สวทน ร่วมมือ เอสแคป และ กูเกิล เปิดตัวเครือข่าย AI for Social Good พัฒนานโยบายการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

14 Dec 2018
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอสแคป (ESCAP) และกูเกิล (Google) จัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยผลกระทบทางสังคมของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Social Impact Summit เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ณ ห้อง Eternity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีภาครัฐ NGOs ภาควิชาการและภาคเอกชน จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมประชุม
สวทน ร่วมมือ เอสแคป และ กูเกิล เปิดตัวเครือข่าย AI for Social Good พัฒนานโยบายการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวในตอนหนึ่งของการประชุมว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าที่ทุกคนกล่าวขวัญถึงในปัจจุบันและจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต และแม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ในหลายด้าน แต่ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วพลิกผัน จึงทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบทางสังคมในทางลบ ซึ่งเรื่องนี้ สวทน. ได้มีมาตรการรองรับโดยได้เสนอร่างกฎหมายที่เรียกว่า policy and regulatory sandbox เพื่อสนับสนุนการทดลองเชิงนโยบายและกฎระเบียบในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ไปใช้ในสังคมเพื่อศึกษาผลกระทบในวงจำกัดแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขพร้อมออกกฎระเบียบที่เหมาะสมก่อนนำออกใช้จริงในวงกว้าง ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้จะช่วยให้สังคมคลายความกังวลและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้เต็มที่ โดยเฉพาะในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยแนวทางการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย นอกจากนี้ สวทน. คาดหวังว่าเครือข่าย ARTNET on STI และ AI for Social Good จะเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคจะนำมาซึ่งการจัดทำนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่มีประสิทธิผลและเชื่อมโยงกันต่อไป

Ms. Armida Salsiah Alisjahbana ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารเอสแคป กล่าวว่า เอสแคปเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการเร่งบรรลุเป้าหมาย SDGs ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเอสแคปได้ร่วมกับกูเกิล และ Association of Pacific Rim Universities (APRU) จัดตั้งเครือข่ายวิจัยปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific AI for Social Good Research Network) โดยต่อยอดจากเครือข่ายวิจัยและฝึกอบรมด้านนโยบาย วทน. แห่งเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ARTNET on STI ที่เอสแคป สวทน. และสถาบัน STEPI แห่งประเทศเกาหลีร่วมกันจัดตั้งขึ้น ซึ่งเครือข่ายวิจัย AI ดังกล่าวจะเป็นเวทีรวบรวมนักวิชาการชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อผลิตงานวิจัยวิธีการส่งเสริม AI เพื่อสังคม และโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อบริหารความเสี่ยงและข้อกังวลต่าง ๆ

ด้าน Mr. Kent Walker, รองประธานอาวุโส Google AI กล่าวว่า กูเกิลยินดีที่จะร่วมมือกับเอสแคปและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่อไป และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ กูเกิลได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อจัดการแข่งขัน Google AI Impact Challenge โดยเปิดรับข้อเสนอจากองค์กรหรือสถาบันที่มีแนวคิดที่ดีในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI เพื่อสังคมจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2562 (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://ai.google/social-good/impact-challenge)

อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอกรณีศึกษาการใช้ AI เพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคม อาทิ AI เพื่อการศึกษา AI เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง AI เพื่อการแพทย์ ที่นำเสนอโครงการป้องกันตาบอดจากโรคเบาหวาน โดยนายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ต่อด้วยการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกำกับดูแล AI และบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริม AI เป็นต้น

ฃฃ

สวทน ร่วมมือ เอสแคป และ กูเกิล เปิดตัวเครือข่าย AI for Social Good พัฒนานโยบายการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน สวทน ร่วมมือ เอสแคป และ กูเกิล เปิดตัวเครือข่าย AI for Social Good พัฒนานโยบายการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน