ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุข ด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ กล่าวในการแถลงข่าว "ร่วมปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ สู่คุณค่าใหม่ ด้วยประชาชนเป็นศูนย์กลาง" ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: การดูแลสุขภาพแบบมุ่งเน้นคุณค่า" จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับหน่วยงานภาคี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.61 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการลงทุนพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างคน เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเป้าหมายหลักหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ที่ทุกประเทศต้องดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 นั้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงผลดีต่อการเข้าถึงบริการและสถานะสุขภาพที่ดีขึ้นของคนไทย แต่ยังคงมีความท้าทายที่สำคัญจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนรูปแบบโรคของคนไทยเปลี่ยนไปเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้ต้องมีการปฏิรูปวิธีการจัดบริการสุขภาพและการคลังสุขภาพสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งต้องมุ่งเน้นคุณค่าที่ประชาชนจะได้รับในภาพรวม ทั้งคุณภาพบริการที่ดีขึ้นและค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า จากแนวคิดสู่การขับเคลื่อน "ระบบหลักประกันสุขภาพ" เพื่อก้าวสู่การดูแลสุขภาพแบบมุ่งเน้นคุณค่า ใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1."ขับเคลื่อนและปฏิรูปชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ" ทั้งชุดสิทธิประโยชน์หลักและเสริม ทั้งนี้ ได้ใช้กรอบแนวคิดหลักในการปฏิรูปชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพในระยะแรกดังนี้ คือ ชุดสิทธิประโยชน์โดยรวมของทุกกองทุนไม่แตกต่างจากเดิมหรือดีกว่า และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุและมีผู้ป่วยเรื้อรังมากขึ้น โดยมีการจำแนกรายละเอียดถึงบริการด้านต่างๆ อาทิ ชุดสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ด้านปฐมภูมิ ด้านรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ด้านการดูแลระยะกลาง ด้านการดูแลระยะยาว ประกอบด้วยบริการทางสุขภาพและบริการช่วยเหลือทางสังคม ด้านการดูแลแบบประคับประคอง สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ให้ได้รับการดูแลอย่างสมศักดิ์ศรี
2.ขับเคลื่อนและปฎิรูปกลไกการคลัง เพื่อความเพียงพอและยั่งยืนของงบประมาณ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท ทั้งมาตรการระยะสั้น การปรับตัวด้านอุปสงค์และอุปทาน การบริหารจัดการทรัพยากรภายใต้ข้อจำกัด การเติมเงินเข้ามาในระบบอย่างมีมาตรฐาน และการเพิ่มประสิทธิภาพ การคาดการณ์งบประมาณ และปรับปรุงการจัดทำบัญชีต้นทุน มาตรการระยะยาว โดยหาแหล่งเงินเพิ่มเติม ทั้งมาตรการทางภาษี และมาตรการอื่นๆ และ 3.การขับเคลื่อนและปฏิรูปเพื่อมุ่งยกระดับประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดูแลระบบสุขภาพ โดยเริ่มจากการจัดบริการปฐมภูมิแบบครบวงจร ที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Value-based care) และกลไกการจ่ายที่เน้นคุณค่า (Value-based payment) ตลอดจนแนวทางการพัฒนาระบบสารสนเทศแบบบูรณาการ (Integrated Information system) เพื่อให้เกิดการวางแผนการดูแลผู้ป่วยที่ต่อเนื่องในทุกระดับ ผลลัพธ์ทางสุขภาพดีขึ้น และใช้ค่าใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ความเห็นเพิ่มเติมจากนักวิชาการ ตลอดจนความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม จะมีส่วนสำคัญในการปรับรูปแบบข้อเสนอการปฏิรูปการคลังบริการสุขภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนการขับเคลื่อนในระยะต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit