อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุตามแรงซื้อของนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ หลังเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยมียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ ประมาณ 11,380 ล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนตราสารระยะสั้นของสหรัฐอเมริกา มีการปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้น Fed Fund Rate ในเดือนธันวาคม ในขณะที่ตราสารอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงตามแรงซื้อหลังประธาน FED ส่งสัญญาณลดความถี่ในการขึ้นดอกเบี้ย ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงระหว่างรอผลการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งทางการค้า ระหว่างสหรัฐกับจีน การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อและมุมมองของตลาดที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้ อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 9 bps. อยู่ที่ 2.71% อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 15 bps. มาอยู่ที่ 2.69% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 16 bps. มาอยู่ที่ 2.85% ต่อปี
สำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คาดว่า เฟดยังน่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่จะขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้ง ต้องมาดูกันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงแข็งแกร่งอยู่ อัตราการว่างงานมีเพียง 3.9%ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ประกาศล่าสุดยังออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับเหนือว่าเป้าหมายของเฟด เหล่านี้เอื้อให้เฟดยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปได้
ทั้งนี้ นโยบายการคลังของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายการลดภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มมีแรงส่งต่อเศรษฐกิจที่ลดน้อยลงในช่วงจากนี้ไป อีกทั้ง ผลจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องก็เริ่มสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ต้นทุนการกู้เงินของภาคธุรกิจหรือผู้กู้เริ่มสูงขึ้น ยอดขายบ้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะชะลอลงในช่วงถัดไป อีกทั้ง การที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมากในช่วงนี้ ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้น แม้เฟดจะระบุว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แต่ก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะมีข่าวดีว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยกว่านั้น เช่น ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลงรวดเร็วเพียงใด
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร โทร 0-2686-6206-7