ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการข้าวมีความภาคภูมิใจที่ร่วมเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากยางพาราที่ผลิตโดยพี่น้องชาวสวนยาง นอกจากถนนเส้นนี้แล้ว ในปี 2549 กรมวิชาการเกษตรยังได้ร่วมกับกรมการข้าว ผลักดันให้ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมการข้าวนำร่องทำผิวถนนลาดยางผสมยางพารา ด้วยถนนที่มีความกว้าง 3.5 เมตร หนาไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร ความยาว 2,000 เมตร พื้นที่ประมาณ 6,400 ตารางเมตร โดยใช้ส่วนผสมของยางพารา 6% ในการลาดยางซ่อมผิวถนน โดยถนนดังกล่าวมีอายุการใช้งานนานถึง 10 ปี แต่ยังมีสภาพดี กรมการข้าวจึงมีความตั้งใจที่จะขยายผลการซ่อมแซมถนนในศูนย์วิจัยข้าว และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกว่า 50 แห่ง ให้เป็นถนนลาดยางพาราเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องชาวสวนยางและประเทศให้มากที่สุด
ทั้งนี้ การสร้างถนนที่มีส่วนผสมของยางพารามีประโยชน์หลายประการ เช่น เป็นถนนที่มีคุณภาพดี เนื่องจากทำให้ผิวถนนมีความลื่นลดลง มีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุและอัตราการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งอายุการใช้งานยาวนานกว่าถนนยางแอสฟัลท์หรือยางมะตอยธรรมดา ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก ลดปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุระหว่างการซ่อมบำรุงผิวทาง และที่สำคัญคือประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพารา การใช้ประโยชน์จากยางพาราภายในประเทศจะช่วยทำให้พี่น้องชาวสวนยางมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ เกษตรกรจังหวัดหนองคาย ยังประกอบอาชีพทำสวนยางรองจากการทำนา มีพื้นที่สวนยางประมาณ255,000 ไร่ ผลผลิตรวม 64,700 ตัน กรมการข้าวจึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนลาดยางผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ภายในศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย โดยแขวงทางหลวงชนบทหนองคายให้ความร่วมมือในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง มีระยะทาง 1,950 เมตร กว้าง 4 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ 7,800 ตารางเมตร โดยผสมยางพารา 5% ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 90 วัน นับเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวสวนยางพาราที่มีส่วนร่วมในการผลิตน้ำยางเพื่อสร้างถนนเส้นนี้ด้วยเช่นกัน