กรมวิทย์ฯ – สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯร่วมมือ ปกป้องนักกีฬายกน้ำหนักไทย กินอยู่ปลอดภัย ไร้สารกระตุ้นและสารต้องห้าม

11 Dec 2018
เมื่อเร็วๆนี้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรีหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสุขภาพของนักกีฬายกน้ำหนัก ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปนปลอมสารต้องห้าม เพื่อป้องกันนักกีฬายกน้ำหนักใช้อาหารเสริมที่ปนปลอมสารต้องห้ามโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
กรมวิทย์ฯ – สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯร่วมมือ ปกป้องนักกีฬายกน้ำหนักไทย กินอยู่ปลอดภัย ไร้สารกระตุ้นและสารต้องห้าม

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆให้เป็นไปตามกฎหมาย ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องมือทดสอบที่ทันสมัย และประสบการณ์ในการทดสอบสิ่งปนปลอมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรต่างๆ ทำให้สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นในศักยภาพของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หน่วยงานทั้งสองจึงได้จัดทำโครงการ "ความร่วมมือด้านสุขภาพของนักกีฬายกน้ำหนัก"เพื่อป้องกันนักกีฬาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปนปลอมสารต้องห้ามโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องด้านอาหารและการปนเปื้อนสารอันตรายให้แก่นักกีฬา ซึ่งนอกจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆที่ไม่ปลอดภัยแล้วยังได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์สารเสพติดชนิดใหม่ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลนักกีฬาประเภทอื่นๆรวมถึงประชาชนต่อไปด้วย

อธิบดีกรมวิทย์ฯยังบอกอีกว่าสารต้องห้ามที่เคยตรวจพบและเป็นสารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพนักกีฬามีอยู่หลายชนิด ขณะนี้สามารถตรวจได้อย่างน้อย 5 กลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสารลดน้ำหนัก กลุ่มสารเพิ่มสมรรถนะของกล้ามเนื้อ กลุ่มฮอร์โมนต่างๆ อย่างเช่นเพรดนิโซโลน (Prednisolone) และไซบูทรามีน (sibutramine)ซึ่งทางอย.ได้มีการประกาศเป็นสารต้องห้ามแล้ว แต่บางครั้งก็ยังพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารเสริมบ้าง ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจหาการปนเปื้อนของสารต่างๆในอาหารเสริมได้เกือบทุกชนิด และถ้าหากมีสารใหม่ๆเกิดขึ้นก็จะพัฒนาและจะทำการตรวจให้ได้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันนักกีฬาให้มีความปลอดภัย และมีความสบายใจ ในการบริโภคอาหารต่างๆรวมทั้งอาหารเสริมอีกด้วย

ด้านนางบุษบา ยอดบางเตย นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยกล่าวว่ากีฬายกน้ำหนักนับเป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทย จากผลงานการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติที่ผ่านมาของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย สามารถคว้าเหรียญรางวัล จากการแข่งขันได้หลายปีติดต่อกัน ทางสมาคมฯ จึงอยากพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาให้มากยิ่งขึ้น และหาทางป้องกันปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของนักกีฬาที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณทั้งด้านความสวยงาม ลดน้ำหนัก บำรุงร่างกาย สร้างกล้ามเนื้อ โดยไม่ทราบว่ามีการปนปลอมสารต้องห้ามหรือไม่ เพราะกว่าที่พวกเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬายกน้ำหนักระดับทีมชาติได้ พวกเขาต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก เกือบจะทุกวันจนแทบไม่มีวันหยุดพัก ต้องฝึกการใช้กล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องควบคุมอาหารการกินเพื่อสุขภาพที่ดีอีกด้วย ซึ่งหลายต่อหลายครั้งนักกีฬาอาจได้รับสารกระตุ้นหรือได้รับสารต้องห้าม ปนเปื้อน จากอาหารการกินอาหารเสริมที่รับประทานเข้าไปอย่างไม่รู้ตัว

"ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในสุขภาพของเหล่านักกีฬายกน้ำหนักทัพไทย สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยจึงได้ขอความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจปนปลอมสารต้องห้าม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักกีฬาที่ใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกยึดเหรียญรางวัลและการถูกห้ามเข้าแข่งขันเป็นระยะเวลาหนึ่ง การตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่นักกีฬาสงสัยก่อนการบริโภคจะเป็นวิธีสร้างความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจมีสารต้องห้ามโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการยืนยันถึงชัยชนะของกีฬายกน้ำหนักของไทย ให้สมกับคำว่า "ชัยชนะอย่างขาวสะอาด ปราศจากสารต้องห้าม" และเป็นการสร้างความมั่นใจว่านักกีฬายกน้ำหนักทัพไทยจะปลอดภัยจากสารต้องห้ามและไม่พลาดหวังจากเหรียญต่างๆ"นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯกล่าวในตอนท้าย

HTML::image(