4 ปี การประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

24 Dec 2018
โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล
4 ปี การประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

เนื่องด้วยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์มาเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ในฐานะผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้เสนอให้ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อเริ่มต้นประเมินและติดตามผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ซึ่งได้จัดขึ้น ณ โรงแรมแคนทารี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการสรุปประเด็นเรื่องการรับรู้ การเข้าถึง และการตอบสนองของประชาชนต่อกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงข้อคิดเห็น ข้อดีและจุดเน้นที่ควรพัฒนาของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ดังนี้

ประเด็นข้อคิดเห็น

1. ด้านการรับรู้ของประชาชน คือ ประชาชนรับรู้แต่ขาดความเข้าใจ (56.33%) โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ทั่วถึง และมีการรับรู้กฎหมายเฉพาะบางกลุ่ม สะท้อนจากคดีฟ้องร้องหรือผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว (53.52%) ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารไปยังประชาชน เพื่อปลูกจิตสำนึกในเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (40.84%) ผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้าใจกฎหมายอย่างชัดเจน (39.43%) ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว (26.76%) ประชาชนส่วนใหญ่คิดเห็นว่าข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ให้ความคุ้มครองสัตว์มากเกินไป (26.67%)

2. ด้านการตอบสนองของประชาชนและสังคม คือ มีการตอบสนองของประชาชนและสังคมหลังประกาศใช้กฎหมายนี้ โดยพิจารณาจากการโพสต์ภาพ คลิปวิดีโอ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมสัตว์ (36.61% ) โดยขาดการตอบสนองจากประชาชนด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งสังคมได้มุ่งประเด็นด้านทารุณกรรมสัตว์เป็นส่วนใหญ่ (36.11%) ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว (16.90%) มีความตื่นตัวต่อการประกาศใช้กฎหมายและจะให้ความสำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นทางสังคม แต่ยังขาดความเข้าใจต่อกฎหมาย ในบางกรณีเกิดการล้อเลียนกฎหมายดังกล่าวเปรียบเทียบกับกฎหมายของคน เป็นต้น (5.63%) กฎหมายไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากประชาชนไทยมีจิตสำนึกและความเมตตาต่อสัตว์ (4.22%)

3. ด้านความตระหนักรู้และการปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ประชาชนขาดการตระหนักรู้ ส่งผลให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่ควรหรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เช่น การปล่อยสัตว์เลี้ยงตามสถานที่สาธารณะ เป็นต้น รวมถึงการไม่คำนึงถึงกฎหมาย และใช้ความรู้สึกในการปฏิบัติ (47.88%) ขาดความแม่นยำและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดของผู้บังคับใช้กฎหมาย (39.43%) โดยควรสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยการประชาสัมพันธ์และมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (28.16%) ควรให้ปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายแก่เยาวชน (26.76%) เสนอให้มีการทำสื่อในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มการรับรู้และสื่อสารไปยังประชาชน (26.76%)

ข้อควรพัฒนาและข้อเสนอแนะต่อพระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

1. เพิ่มองค์ประกอบในพระราชบัญญัติให้ครบถ้วน เช่น กฎหมายลูกที่ให้รายละเอียดในการปฏิบัติ (26.76) ได้แก่ การระบุอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน เช่น อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในการจัดการโรคเรบีส์/พิษสุนัขบ้า และการควบคุมประชากรสัตว์ (38.02%) การจัดการสัตว์ไม่มีเจ้าของและผู้รับผิดชอบเยียวยากรณีประชาชนได้รับอันตรายหรือทำให้เสียทรัพย์สินจากสัตว์ไม่มีเจ้าของ (33.80%) ควรระบุประเภทของสัตว์ที่ชัดเจน ครอบคลุมชนิดสัตว์และบทนิยามเกี่ยวกับสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติยังไม่ชัดเจน (29.57%) รวมทั้งการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ (4.22%) ควรระบุพฤติกรรมที่สามารถกำหนดบทลงโทษได้ (4.22%) โดยเฉพาะการให้คำจำกัดความในมาตรา 24 หมวด 6 ว่าด้วยเรื่องการขนส่งสัตว์ ไม่ชัดเจน (4.22%) ข้อเสนอแนะ คือการมีกฎหมายลูกให้ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยขยายความภาษากฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น ดังนี้ ระบุอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน และเพิ่มอำนาจในการจัดการสัตว์จรจัดโดยเร่งรัดการประกาศใช้กฎหมาย ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเด็นการนำสัตว์ไปปล่อยในที่สาธารณะ จับกุมและเผยแพร่ผ่านสื่อเพื่อสร้างความตระหนัก สร้างกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อน ระบุหรือให้คำจำกัดความของชนิดสัตว์และสัตว์ป่าในพระราชบัญญัตินี้อย่างชัดเจน หรือออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับชนิดสัตว์ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย

2. การตีความกฎหมาย ภาษากฎหมายยากต่อความเข้าใจ (19.71%) อาทิ ข้อปฏิบัติอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เช่น เมื่อเกิดปัญหาในสัตว์แต่ละชนิดจะต้องไปแจ้งใคร สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า ปศุสัตว์ การบริโภคสัตว์เลี้ยงเป็นการทารุณสัตว์หรือไม่ ปริมาณอาหารและน้ำ ขนาดของกรงสัตว์ที่เหมาะสมต่อสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น ขาดการวิเคราะห์ที่เพียงพอทำให้ผู้นำไปใช้ตีความผิด เช่น บางครั้งอาจต้องทำลายสัตว์ที่สัมผัสโรค กรณีควบคุมโรคเรบีส์/พิษสุนัขบ้า (2.81%) ข้อเสนอแนะ ควรให้ความรู้ในภาษาตาม พ.ร.บ.ฯ และใช้กรณีตัวอย่างนำมาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจของประชาชนและการตีความ

3.การประชาสัมพันธ์กฎหมาย เพิ่มการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และประชาชน (16.90%) ข้อเสนอแนะ จัดทำคู่มือและจัดฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และรวบรวมกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสาร อาทิ จัดทำสื่อหรือวีดีโอ สำหรับประชาชน และควรมีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะ

4. เพิ่มช่องทางการรับเหตุร้องเรียน รับแจ้งเหตุ (1.40%) ข้อเสนอแนะ กรมปศุสัตว์ มีสายด่วนรับแจ้งเหตุ

5. เพิ่มพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรให้เพียงพอ ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดโดยทั่วไป (1.40%) ข้อเสนอแนะ เปิดรับอาสาสมัครในการช่วยเหลือสัตว์

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวของพระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จะเป็นการช่วยพัฒนาและปรับปรุงด้านต่าง ๆ ให้กฎหมายฉบับนี้มีความสมบูรณ์ เป็นกฎหมายที่สามารถช่วยในการคุ้มครองสัตว์จากการทารุณกรรมโดยไม่มีเหตุอันสมควรและ เป็นการยกระดับจิตใจให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของสัตว์ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตและมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคม สะท้อนถึงน้ำใจอันดี ความเมตตากรุณาต่อสัตว์ของคนไทยได้อีกด้วย

4 ปี การประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557