การจัดงาน "เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร" หรือ Yasothon Organic Fair ในครั้งนี้ เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จังหวัดยโสธร มีศักยภาพและความพร้อมต่อการก้าวไปเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง โดยความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และเกษตรกร ทั้งนี้ จากการที่จังหวัดได้กำหนดทิศทางพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์อย่างชัดเจน เป็นการพัฒนาสร้างเสริมด้านการเกษตรมาอย่างถูกทาง เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก เพราะสินค้าเกษตรอินทรีย์ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งแต่ละประเทศได้มีการกำหนดมาตรฐานรับรองสินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์ของประเทศของตน ซึ่งไทยก็ได้มีมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งกระบวนการเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูป
"รัฐบาลได้มุ่งเน้นส่งเสริมให้มีกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการพัฒนาสินค้าอินทรีย์ของไทยออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยการจัดงานครั้งนี้ เป็นการนำเสนอความเป็นอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคได้เห็นถึงศักยภาพการทำเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเพิ่มช่องทางการตลาด และเป็นการแสดงศักยภาพและพัฒนาการความก้าวหน้าเกษตรอินทรีย์วิถียโสธรให้เป็นที่รับรู้ ทั้งนี้ จังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดที่เกษตรกรรวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์อย่างเข้มแข็ง เป็นสังคมที่มีน้ำใจเอื้ออาทร แบ่งปันองค์ความรู้ ไม่มุ่งค้ากำไรเพียงอย่างเดียว จึงสามารถเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอินทรีย์ในระดับโลกได้" นายวิวัฒน์ กล่าว
สำหรับกิจกรรมภายในงาน นอกจากจะเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดและจังหวัดอื่น ๆ ได้ร่วมนำเอาสินค้าเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดมาจำหน่ายแล้ว ยังมีกิจกรรมต่าง ๆอาทิ การนำเสนอองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ การจัดนิทรรศการด้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตกับผู้ประกอบการ การเยี่ยมชมแหล่งเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร และการเสวนาทางวิชาการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจสินค้าอินทรีย์ด้วย
หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร อำเภอเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ ทางวิชาการ นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรอินทรีย์ที่ช่วยพัฒนาให้เกษตรกรมีศักยภาพด้านการผลิตในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตร มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกิจกรรมปล่อยปลาและกบลงสระน้ำบริเวณศูนย์เรียนรู้ฯ และปลูกต้นรวงผึ้งด้วย