ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovation Thailand Institute: FIT) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ปีละประมาณร้อยละ 6-7 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกมากกว่าร้อยละ20 และประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่นักลงทุนต่างชาติเลือกลงทุน แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 3-4 และไม่สามารถกลับไปเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วเหมือนสมัยก่อน ในขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกเริ่มมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางตลาดโลก และปัจจัยทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้ชัดว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง
ทั้งนี้ในสมัยก่อนนั้นประเทศไทยก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมส่งออกในยุค 1980s โดยอาศัยความได้เปรียบ เชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) จากการมีแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกจำนวนมาก (Labour-intensive) แต่ในปัจจุบันประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะปานกลางถึงสูง ในประเทศไทยมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Technology Intensive หรือ Capital Intensive ได้ ปัจจุบันรายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศไทยในปี พ.ศ.2560 จะอยู่ที่ 5,960 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 16,300 บาทต่อเดือน และจากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไทย พบผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทถึงร้อยละ 74.84 ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในอาชีวศึกษาเพื่อที่จะเพิ่มแรงงานที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะวิศวกรและช่างเทคนิคให้เร็วที่สุด เพื่อที่ยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีที่สูงขึ้น มีผลิตภาพที่สูงขึ้น หรือมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
โดยในงานนำเสนองานวิจัยเชิงนโยบายชิ้นนี้ ได้รับความสนใจจากทั้ง นักวิชาการ นักการเมือง ตัวแทนสภาบันอาชีวศึกษา ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชน เข้าร่วมฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย รวมไปถึงผู้ปกครองและนักเรียนอาชีวะร่วมตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นต่ออนาคตอาชีวศึกษาในประเทศไทย โดยมี ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะ และ นางสาววิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิเคราะห์นโยบาย สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT) ได้นำเสนอผลงานวิจัยเชิงนโยบาย เรื่องยกระดับทักษะแรงงานเพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาระบบอาชีวศึกษามาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้มีการลงทุนในอุปกรณ์และเครื่องจักรอย่างจริงจัง ทำให้ความรู้และทักษะของนักเรียนอาชีวศึกษายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งระบบทวิภาคีขาดการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษายังขาดความพร้อมในการทำงาน ทั้งนี้สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยได้นำเสนอวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย แรงงานไทย และอาชีวศึกษา ดังนี้ทุกคนมีทักษะพร้อมทำงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
นักเรียนร้อยละ 80 เรียนจบ ปวช. หรือ ม.6 ขึ้นไป
สัดส่วนของนักเรียน ปวช. : ม.6 อยู่ที่สัดส่วน 50 : 50
ในอนาคตเงินเดือน ปวส. ที่มีคุณภาพเงินเดือนใกล้เคียงกับปริญญาตรี
เปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงานจากแรงงานไร้ฝีมือไปสู่แรงงานที่มีทักษะสูง
ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานโดยมีภาครัฐสนับสนุน
เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการจัดการศึกษา และการฝึกทักษะ ด้วยระบบ Performance-based
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน
นอกจากนั้น สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT) ได้เสนอนโยบายอาชีวศึกษาและแรงงานดังนี้
สนับสนุนเรียนฟรี ปวช. และ ปวส. ทั้งในอาชีวศึกษาภาครัฐ-เอกชน ทั้งสายช่าง สายพาณิชย์ และสายอื่น ๆ โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินงบประมาณให้คุณภาพได้มาตรฐานสากล
รัฐบาลสนับสนุนเงินค่าจ้างนักเรียกฝึกงานที่ร้อยละ 50-70 ของค่าแรงขั้นต่ำที่ประมาณเดือนละ 8,580 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือนต่อชั้นปี
จัดตั้ง Internship Centre เพื่อให้เป็นศูนย์กลางระหว่างภาคเอกชน สถานศึกษา และนักเรียน
ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาให้มีการเรียนภาคทฤษฎี 3 เดือนสลับกับการฝึกงาน 3 เดือน
ขยายวงเงินกู้ยืมการศึกษาในส่วนค่าครองชีพ จาก 28,800 บาท เป็น 48,000 บาท ในทุกระดับชั้นสำหรับคนที่ไม่เข้าร่วมในโครงการฝึกงาน หรือไม่อยู่ในอาชีวศึกษา
แจกคูปองฝึกทักษะ 1 ล้านใบ มูลค่า 3,500 บาท ต่อใบ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เพิ่มพูนทักษะในการทำงาน เรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาผลงานวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง ยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ฉบับเต็ม สามารถติดตามได้ที่ www.fit.or.th หรือรับชมบันทึกงานนำเสนองานวิจัยได้ที่ Facebook page: Future Innovative Thailand Institute
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit