แม้ประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศ
มุสลิม แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาสร้างระบบมาตรฐานงานด้านฮาลาลจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะใน
กลุ่มประเทศอาหรับตระหนักใน
เรื่องนี้เป็นอย่างดี จนกระทั่งสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาประเทศอิสลาม (Standard and Metrology Institute for Islamic Countries, SMIIC) ภายใต้องค์การความร่วมมือชาติอิสลาม (Organization of Islamic Cooperation, OIC) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก UN รับประเทศไทยในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์มีฉันทามติร่วมกันประกาศรับประเทศไทยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป และในปีนี้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา จึงได้รับเกียรติเข้าร่วมประชุมมาตรฐานฮาลาล OIC/SMIIC (17th SMIIC Board of Directors (BOD) Meeting and 13th General Assembly (GA) Meeting) โดยงานนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกอิสลาม ซึ่งจัดประชุมทุกปี ปีนี้เป็นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 13 และประชุมกรรมการอำนวยครั้งที่ 17 ณ โรงแรมฮิลตัน จาบาล โอมาร์ คอนเวนชั่น ในมหานครมักกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คณะผู้แทนประเทศไทยด้านมาตรฐานฮาลาล นำโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และคุณปรัชญา ฉิมวิเศษ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ รวมถึง ดร.อัซอารีย์ สุขสุวรรณ นักวิจัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ นอกจากนี้คุณอุมัร มะดามัน กุงสุลไทย ประจำประเทศซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมด้วย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า การประชุมปีนี้เป็นเรื่องทั่วไป เช่น งานบริหาร งานการเงิน การรับสมาชิกใหม่ ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานไปแล้ว และมีการนำเสนอร่างมาตรฐานใหม่ เช่น มาตรฐานเครื่องสำอางฮาลาล ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิชาการแสดงบทบาทด้านวิทยาศาสตร์และมาตรวิทยาฮาลาลในการร่างมาตรฐานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจในเรื่องร่างมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนฮะรอมทางห้องปฏิบัติการฮาลาล ในมาตรฐานเครื่องสำอาง การจัดร่างมาตรฐาน Halal Food Additives ซึ่งเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล H number ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่จัดทำขึ้น รวมถึงได้รับความไว้วางใจในการร่างมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพฮาลาล ระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานฮาลาลและการท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งเป็นจุดแข็งคือประเทศไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม คณะตัวแทนจากประเทศไทย ได้เข้าพบท่านสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ไทย และท่านอฐิคม ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทิศทางและสถานการณ์การส่งออกสินค้าระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย "ดังนั้น ในช่วงไตรมาสที่เหลือของรัฐบาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับกลยุทธการส่งออกสินค้าไทยสู่ประเทศซาอุฯ ด้วยมุมมองใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศปลายทาง โดยรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนหน่วยงานที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าแก่ประเทศไทย...ประเทศซาอุฯและ
ประเทศในกลุ่มอาหรับเริ่มเห็นความสำคัญของการรับรองฮาลาลบนสินค้า จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าฮาลาล ทั้งประชาสัมพันธ์สินค้าและอาหารฮาลาลไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น Foodex Saudi และนำเสนอสินค้าอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการ เช่น แบตเตอร์รี่ที่ใช้เป็นยุทธภัณฑ์ เป็นต้น...ทั้งต้องเข้าใจตลาดในประเทศซาอุฯ ให้มากขึ้น โดยค้นหานักธุรกิจและพ่อค้ามุสลิมที่สามารถเจาะตลาดในช่วงพิธีฮัจย์ได้ และต้องเข้าใจช่วงเวลาของการแข่งขันในตลาดของประเทศซาอุฯ เป็นอย่างดี อย่างช่วงพิธีฮัจย์ที่ตลาดการแข่งขันสูงมากจนมีคำกล่าวไว้ว่า 'ค้าขายช่วงฮัจย์ 1 เดือนเท่ากับค้าขายตลอดทั้งปี' และการพ่วงสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงพิธีฮัจย์ อย่างสินค้า ready to use รวมถึงการหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดอาหารในช่วงฮัจย์เพราะมีผู้บริโภคมากถึง 4 ล้านคน…นอกจากนี้ประเทศบาห์เรนเป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อเชื่อมไปยังประเทศซาอุฯ เนื่องจากคนซาอุฯ ข้ามชายแดนไปฝั่งบาห์เรนกว่า 2 แสนคนต่อสัปดาห์ และบาห์เรนสนใจในสินค้าไทย เพราะต้องการแข่งขันกับดูไบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขาย และขณะนี้ประเทศซาอุฯ กำลังพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุฯ ทำให้จำนวนนักธุรกิจจากหมื่นกว่าคนที่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีโอกาสเดินทางมาค้าขายระหว่างประเทศกันมากขึ้นด้วย" ต่อมาคณะตัวแทนจากประเทศไทย เข้าเยี่ยมเยียนท่านอับดุลสลาม ดาอุด อัลอับบาซี เลขาธิการของสถาบันกฎหมายอิสลามนานาชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมายศาสนาของ OIC ก่อตั้งมาแล้วกว่า 35 ปี ในเมืองเจดดาห์ และมี 47 ประเทศที่ทำงานร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำหน่วยงานฮาลาลของประเทศไทยและแสวงหาแนวทางเข้าร่วมกับสถาบันกฎหมายอิสลามนานาชาติ ประเทศไทยทางด้านศาสนาและวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและเป็นประโยชน์ต่อสถานะของประเทศไทยใน OIC ทั้งสร้างการยอมรับของ IIFA ต่อประเทศไทยในอนาคต พร้อมกันนี้คณะตัวแทนจากประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกิจการด้านฮาลาลกับท่านโมฮัมเมด บิน อับดุล การิม อัล-อิสสา เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลกในการรับรองสินค้าฮาลาลทั้งนำเข้าและส่งออกเนื่องจากองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลกมีประสบการณ์ด้านฮาลาลมายาวนานกว่า 30 ปี และต้องการเป็นศูนย์กลาง ฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามสันนิบาตมุสลิมโลกยอมรับและกล่าวชื่นชมประเทศไทยในนโยบายฮาลาลเพื่อทุกคน (Halal for All) แม้ว่าประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศมุสลิม แต่มีความเข้าใจฮาลาลเป็นอย่างดี รวมถึงกระบวนการรับรองฮาลาลประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือเนื่องจากการบูรณาการฮาลาลแม่นยำ (Precision Halalization) ในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบจนถึงมือผู้บริโภคตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับทำให้สินค้าและบริการฮาลาลมีคุณภาพสูงและช่วยลดต้นทุนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ท้ายที่สุดสันนิบาตมุสลิมโลกต้องการประเทศไทยสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติฮาลาลและแสวงหาความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไป