หากกล่าวถึงธุรกิจเกษตรและอาหารของไทย นับว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดย สัดส่วนของภาคการเกษตรต่อ GDP ของประเทศไทย ในปี 2017 อยู่ที่ร้อยละ 8.2 และจำนวนแรงงานใน ภาคการเกษตร มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 11.78 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31.5 ของแรงงานทั้งหมด และคิดเป็นครัวเรือนของประเทศไทยทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนทั้งหมดของประเทศ จากนโยบายของ ประธานกรรมการ (คุณกลินท์ สารสิน) ได้วางแผนขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรและอาหาร เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาธุรกิจเกษตรและอาหารให้สามารถยกระดับเกษตรและอาหารทั้ง Value Chain ของสมาชิกผู้ประกอบการและประเทศชาติ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่สินค้าเกษตรและอาหาร ของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ปี 2019 ตั้งแต่ ต้นน้ำ คือ การร่วมมือกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในมิติต่างๆ กลางน้ำ คือ การบูรณาการ ในการดูแลถ่ายทอดความรู้วิชาการ การพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต รูปแบบผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดการคุณภาพสินค้า เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรไทย และ ปลายน้ำ คือ การส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร และหาช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สมาชิกผู้ประกอบการหอการค้าทั่วประเทศสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อน ดังนี้
1) ด้านการส่งเสริมการผลิต โดยส่งเสริมการพัฒนา ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อาศัยเครือข่ายหอการค้าไทยที่มีศักยภาพทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ตลอดจน การขยายตลาดในและต่างประเทศร่วมกันซึ่งหอการค้าไทย จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อส่งเสริมสมาชิกผู้ประกอบการ ดังนี้
1.1) หอการค้าไทย จะร่วมลงนามความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทั้งทางด้านการผลิต การตลาด และอื่นๆ
1.2) โครงการ Big Brother ภาคการเกษตร โดยให้บริษัทขนาดใหญ่ สมาคมการค้าที่เกี่ยวกับ Modern Trade เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและเกษตรกร เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมมาบริหารจัดการองค์กร
1.3) โครงการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกพืชที่มีระดับราคาสูง เพื่อยกระดับรายได้ของภาคเกษตรกร อาทิ สมุนไพร อินทผาลัม และโกโก้ เป็นต้น
2) ด้านนวัตกรรมและการแปรรูป โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม (Value Added) จากวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความหลากหลายผ่านการวิจัยและพัฒนาให้มีนวัตกรรม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ของเครือข่ายภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
2.1) หอการค้าไทย จะร่วมลงนามความร่วมมือกับสถาบันอาหาร ผ่านโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรม
2.2) หอการค้าไทย จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาสินค้าเกษตรด้วยการนำนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชสมุนไพร
3) ด้านการตลาด โดยหอการค้าไทย ให้ความสำคัญกับ "การตลาดนำการผลิต" เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ โดยการขับเคลื่อนดังนี้
3.1) สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ ในการนำสินค้าเกษตรไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในประเทศ
3.2) สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในการนำสินค้าเกษตรกรไปสู่ตลาดโลก
3.3) สร้างเครือข่ายระหว่างหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด ในการกระจายสินค้า เพื่อลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด
3.4) ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร เพื่อกระจายรายได้ไปยังครัวเรือนภาคเกษตร และสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
3.5) ส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดสินค้าสมุนไพร เพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และเน้นเจาะกลุ่ม Niche Market
3.6) ผลักดันการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ โดยการส่งเสริมการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าชั้นสูงเพื่อการส่งออก
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวสรุปว่า พร้อมกันนี้ ด้วยนโยบายเกษตรเข้มแข็งของนายกรัฐมนตรี อาทิ 1) การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 2) การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) 3) การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer 4) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ 5) การส่งเสริม Cluster สถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง จะนำไปสู่ความร่วมมือ และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่อไป
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และ ประธานคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า สถานการณ์สินค้าประมงไทยปี 2561 โดยการส่งออกสินค้าประมง หมวดอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง โดยภาพรวมมีปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5 มูลค่าเงินบาทลดลงร้อยละ 15 (มูลค่าเงินสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10) ซึ่งประเทศที่มีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นคือในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม ฮ่องกง ขณะที่ตลาดส่งออกหลักมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
หากพิจารณารวม 11 เดือนแรกของปี 2561 การส่งออกอาหารทะเลแช่เยือกแข็งมีปริมาณ 432,643 ตัน มูลค่า 81,885 ล้านบาท หรือ 2,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5 14 และ 9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2560
อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 2561 เป็นปีที่อุตสาหกรรมประมง มีภาพลักษณ์โดยรวมที่ดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์หลักที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริม 3 ประเด็นคือ
1) รายงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย (TIPs Report) เลื่อนระดับจาก Tier 2 watch ขึ้นเป็น Tier2
2) การบริหารจัดการด้านประมงของไทย ทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาด้านประมง ทั้งการแก้กฎหมาย จัดระเบียบเรือ ตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ด้านแรงงาน และวางระบบตรวจสอบแรงงานที่ศูนย์ PIPO
3) กุ้งไทยฟื้นจากโรค EMS จากผลผลิตปี 2557 217,000 ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนปี 2561 ตัวเลขอยู่ที่ 251,000 ตัน
โอกาสในปี 2562 ของอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งไทยด้านการจับจากทะเลและการเพาะเลี้ยง ดังนี้
1) จากทะเลหรือจากการจับตามธรรมชาติ ซึ่งจากที่ทางรัฐบาลของไทยได้มีการจัดระเบียบเรือ ระบบการจัดการด้านเอกสารตรวจสอบย้อนกลับที่ดี จะเป็นการสร้างโอกาสในเพิ่มการนำสินค้าที่จับจากธรรมชาติมาเพื่อแปรรูปส่งออก ทำให้สินค้าประมงของไทยได้รับความเชื่อมั่นจากประเทศผู้นำเข้าเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะขยายปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก
2) จากการเพาะเลี้ยง นอกจากภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องจะส่งเสริมในภาคการเลี้ยงแล้ว หากภาครัฐมีการสนับสนุนเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งแปรรูปเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าแปรรูปชั้นสูง (value added) จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกให้กับสินค้าอาหารแช่เยือกแข็งของไทย และเสริมให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารสู่ตลาดโลกด้วย
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกสินค้าทูน่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยงกระป๋อง (ทำจากปลา) เพิ่มขึ้นในปี 2018 เฉลี่ยทั้งปี มีปริมาณ 600,400 ตัน มูลค่า 82,620 ล้านบาท หรือ 2,580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2017 คิดเป็น 6%, 5% และ 11% ตามลำดับ โดยแบ่งเป็น
1) การส่งออกทูน่ากระป๋องและทูน่าลอยด์ ในปี 2018 เฉลี่ยทั้งปี มีปริมาณ 513,940 ตัน มูลค่า 72,990 ล้านบาท หรือ 2,280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2017 คิดเป็น 5%, 4% และ 10% ตามลำดับ
2) การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงกระป๋อง(ทำจากปลา) ในปี 2018 เฉลี่ยทั้งปี มีปริมาณ แต่ 86,480 ตัน มูลค่า 9,630 ล้านบาท หรือ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2017 คิดเป็น 17%, 16% และ 23% ตามลำดับจากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าทูน่าเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากทั่วโลกให้ความสำคัญและยอมรับสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงอย่างยั่งยืน และมีการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น สินค้ามีมูลค่าเพิ่มและส่งออกได้ดีมาก
และคาดว่าในปี 2019 จะเติบโตได้ 10% เนื่องจากแนวโน้มวัตถุดิบมีเสถียรภาพ และภาครัฐให้ความช่วยเหลือในการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainability) การตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) และการปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Protection) ทำให้ประเทศต่าง ๆ ให้การยอมรับสินค้าสัตว์น้ำของไทย นอกจากนี้ ทางอุตสาหกรรมทูน่าได้สนับสนุนการทำประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ โดยรับซื้อปลาโอที่จับจากเรือไทย ซึ่งชาวประมงได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากปลาที่ตัวใหญ่ขึ้น และรับซื้อสัตว์น้ำจากเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์อื่น ๆ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการทำสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย
คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสำเร็จรูป ปี 2561 มีปริมาณการส่งออก 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 มูลค่าการส่งออก 21,415 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 การส่งออกอาหารสำเร็จรูปโดยรวมมีปริมาณการส่งออก 2.8 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 มูลค่าการส่งออก 191,065 ล้านบาท หรือ 5,939 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหดตัวลงร้อยละ 2 ในรูปเงินบาท และ ขยายตัวร้อยละ 3 ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีในปี 2561 นี้ ได้แก่
1)สินค้ากลุ่มอาหารทะเล มีปริมาณ 114,817 ตัน ขยายตัวร้อยละ 11.9 มูลค่าการส่งออก 12,908 ล้านบาท หรือ 403 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.8 และร้อยละ 10.4 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ขยายตัวโดดเด่น คือ ซาร์ดีนและแมคเคอเรลกระป๋อง ซึ่งซาร์ดีนกระป๋อง มีปริมาณการส่งออก 63,796 ตัน ขยายตัวร้อยละ 22.4 คิดเป็นมูลค่า 4,703 ล้านบาท หรือ 147 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 22.6 และ ร้อยละ 28.9 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักคือ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ยังขยายตัวได้ดีในทุกตลาด สินค้าแมคเคอเรลกระป๋อง มีปริมาณการส่งออก 31,502 ตัน ขยายตัวร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 2,718 ล้านบาท หรือ 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 21.8 และ ร้อยละ 28.8 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักคือ ญี่ปุ่น จาไมก้า และ สหรัฐฯ โดยตลาดญี่ปุ่นและจาไมก้ายังขยายตัวได้ดี
2)สินค้ากลุ่มผักและผลไม้ สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีคือ ข้าวโพดหวานกระป๋อง กะทิ และกลุ่มผลไม้อบแห้ง โดยข้าวโพดหวานกระป๋อง ปริมาณการส่งออก 228,796 ตัน ขยายตัวร้อยละ 10 มีมูลค่า 6,880 ล้านบาท หรือ 214 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 9 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักคือ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันซึ่งขายตัวได้ดีในทุกตลาด กะทิ มีปริมาณการส่งออก 261,422 ตัน ขยายตัวร้อยละ 7.7 มีมูลค่า 13,840 ล้านบาท หรือ 432 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.4 และร้อยละ 12.2 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯ และออสเตรเลียยังขยายตัวดี
3)สินค้ากลุ่มเครื่องปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน มีปริมาณการส่งออก 683,141 ตัน ขยายตัวร้อยละ 3 มีมูลค่า 43,621 ล้านบาท หรือ 1,424 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1 และร้อยละ 4 ตามลำดับ สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี คือ ซอสถั่วเหลือง ซอสพริก น้ำปลา ซอสหอยนางรม และเครื่องแกงต่าง ๆ
ทั้งนี้ ปี 2562 การส่งออกอาหารสำเร็จรูปจะสามารถขยายตัวร้อยละ 5 อันมาจากโอกาสทางการค้าในการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศกลุ่มตลาดใหม่ เช่น ละตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง การเพิ่มยอดขายในกลุ่มประเทศที่ซบเซาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ที่กำลังขยายตัวได้ดี สำหรับอุปสรรคของอุตสาหกรรม ได้แก่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สืบเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา, ความผันผวนของราคาน้ำมัน ทำให้กำลังซื้อของประเทศผู้ค้าน้ำมันลดลง, การถูกตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ในสินค้าบางรายการของไทย ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันลดลง อีกทั้งประเทศคู่แข่งยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ดีกว่า เช่น GSP+ , FTA รวมถึงสภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงยืดเยื้อทำให้บรรยากาศการค้าโลกไม่สดใส และส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น