Satoyama & Satoumi คือ ศาสตร์แห่งการเรียนรู้คุณค่าของการสร้างภูมิทัศน์จากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เป็นความสัมพันธ์ของป่าไม้ พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ชุ่มน้ำ นาข้าว ทุ่งหญ้า การเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ และที่อยู่อาศัยของชุมชนในเขตชนบท ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
การเดินทางครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก The International Partnership for Satoyama Initiative (IPSI) หน่วยงานกลางที่เชื่อมโยงกับองค์การระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิทัศน์แบบ Satoyamaทั่วโลก ในการนำชมและให้ความรู้แก่ต้นกล้าชุมชนและพี่เลี้ยง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนตนเอง
นอกจากนั้น คณะฯ ยังได้เยี่ยมชมตลาดสดโอมิโจที่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ และตลาดเช้าทาคายาม่า ที่มีร้านจำหน่ายอาหารทะเลสด ผัก ผลไม้ ปลา และอาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งยังมีของที่ระลึกซึ่งเป็นงานฝีมือท้องถิ่นของชาวบ้านอีกด้วย ตลอดจนได้เยี่ยมชมหมู่บ้านมรดกโลกชิราคาวาโกะ ซึ่งเป็นบ้านสไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ และได้รับคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก เพื่อจุดประกายให้ต้นกล้าชุมชนนำไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนตนเอง ก่อให้เกิดวิถีชีวิตที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนต่อไป
คุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงการดูงานในครั้งนี้ว่า "ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง 'คน' มูลนิธิเอสซีจีจึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ภายใต้ "โครงการต้นกล้าชุมชน" มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลและพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยตระหนักดีว่าต้นกล้าชุมชนจะเติบโตหยั่งรากอย่างแข็งแรงได้ ต้องได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม การพามาศึกษาดูงานจึงถือเป็นกิจกรรมพัฒนาศักยภาพที่มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญ เพราะการเรียนรู้แนวคิดแบบ Satoyama และ Satoumi ในครั้งนี้ คล้ายคลึงกับการโครงการต้นกล้าชุมชนที่มูลนิธิฯ ดำเนินอยู่อย่างมาก เราคาดหวังว่าน้องๆ ต้นกล้าฯ จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วนำความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม กลับไปปรับใช้เพื่อพัฒนากิจกรรมของชุมชน สังคม ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป"
ด้าน คุณสำรวย ผัดผล ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้โจโก้ เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน นักพัฒนาชุมชนรุ่นพี่ที่ร่วมเดินทางกล่าวว่า "การมุ่งหาความสะดวกสบายด้วยการทำงานในเมืองใหญ่เป็นค่านิยมของสังคมโลก สำหรับเมืองไทย คนหนุ่มสาวที่เลือกทำงานในถิ่นบ้านเกิด ผู้ใหญ่มักจะมองว่าเรียนมาสูงทำไมต้องกลับมาอยู่บ้าน แต่ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น ค่านิยมที่ผลักคนหนุ่มสาวออกจากครอบครัวและชุมชน กลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่มีความพยายามอย่างมากที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ ด้วยการลงทุนทั้งการวิจัย ทุ่มงบประมาณ ให้ความรู้ด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งญี่ปุ่นระดมความร่วมมือทั้งนักวิชาการ องค์กรท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย เพื่อเร่งสร้างฐานเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าในชุมชนให้เกิดขึ้น เพื่อหวังให้คนรุ่นใหม่ตระหนักและเห็นคุณค่าของชุมชนแล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิด
ในประเทศไทยก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน แต่ยังโชคดีที่มูลนิธิฯ เห็นความสำคัญ และริเริ่มโครงการต้นกล้าชุมชน ทำให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้กลับไปทำงานในบ้านเกิดได้อย่างภาคภูมิใจ ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่โอกาสในการเปิดโลกทัศน์ พวกเขาจะได้บทเรียนที่นำกลับไปเทียบเคียงกับเรื่องที่ตัวเองกำลังทำอยู่ในชุมชน ถือว่าเป็นการลงทุนพัฒนาคน สร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ที่ดีวิธีหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นกล้าฯ ชุมชน และประเทศในระยะยาว"
ต้นกล้าพลอย พิไลวรรณ จันทร์แก้ว ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 3 บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหิดลเจ้าของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านงานศิลปะสื่อสารเพื่องานอนุรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก กล่าวถึงความประทับใจว่า "เป็นโอกาสที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิต ที่จะนำความรู้และประสบการณ์กลับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและองค์กร โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของตัวเอง และเน้นการทำงานเป็นทีมให้มากขึ้น คิดรูปแบบการตลาดให้พิถีพิถันกว่าเดิม ใช้การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เรามีความถนัดเข้ามาต่อยอดให้น่าสนใจ ไม่ได้ขายแค่ความสวยงาม แต่ต้องทำให้สังคมตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีมาก ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการต่อยอดสู่ความสำเร็จสำหรับการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และชุมชนต่อไป"
ด้าน ต้นกล้าโจ องอาจ มิเง ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 3 บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เจ้าของโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า โดยชุมชนบ้านยางเปา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า "ครั้งนี้เป็นการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตของผม การได้เจอผู้คน แนวคิด กระบวนการทำงานใหม่ๆ ทำให้ผมได้ทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่ามีมาตรฐานหรือมีคุณภาพแบบญี่ปุ่นไหม แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ ก็ใส่ใจทุกรายละเอียด และสิ่งสำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้แนวคิดแบบ Satoyama และ Satoumi ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผมชอบมาก เพราะสอดคล้องกับโครงการที่ทำอยู่ ทำให้ผมสามารถนำมาปรับใช้และต่อยอดได้
ผมตั้งใจว่าจะกลับไปขยายแนวคิดนี้ โดยเริ่มจากแบ่งปันประสบการณ์ให้เพื่อนที่กลับมาทำงานในชุมชนด้วยกันก่อน เพื่อผลักดันการพัฒนาแปลงเกษตรให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ และมีแผนยกระดับชุมชนให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อให้พร้อมขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ การศึกษาดูงานทำให้เรามั่นใจว่า ชุมชนเราก็สามารถทำได้ ขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มอบโอกาสดีๆ ให้ผมและชุมชนครับ"
มูลนิธิเอสซีจีภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ และยังคงมุ่งมั่น
ต่อยอด สนับสนุนต้นกล้าชุมชนทุกคนให้เติบโตเป็นนักพัฒนารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนหรือชุมชนอื่นๆ ในการกลับมาพัฒนาชุมชนบ้านเกิด เพราะเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักชุมชนดีไปกว่าคนในชุมชนเอง
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit