ผศ.ดร.สุทินเวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับจังหวัด เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 4/2561 และประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-6 มกราคม 2561 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,109 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ เศรษฐกิจและการค้าของจังหวัด รายได้ครัวเรือน สภาพคล่องการเงินครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือน และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งมีค่าระหว่าง 0 - 200 ถ้าค่าดัชนีต่ำกว่า 100 คือ แย่ลง/ลดลง เท่ากับ 100 คือ ทรงตัว/เท่าๆเดิม และมากกว่า 100 คือ ดีขึ้น/เพิ่มขึ้น โดยมรายละเอียดดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานรายไตรมาส
หมายเหตุ: ถ้าค่าดัชนีต่ำกว่า 100 คือ แย่ลง/ลดลง เท่ากับ 100 คือ ทรงตัว และมากกว่า 100 คือ ดีขึ้น/เพิ่มขึ้น
1) ดัชนีเศรษฐกิจและการค้าของอีสานไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 85.3 หมายความว่า เศรษฐกิจและการค้าของอีสานไตรมาส 4/2561 แย่ลงจากไตรมาสที่แล้ว
2) ดัชนีรายได้ครัวเรือนไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 82.0 หมายความว่า รายได้ครัวเรือนไตรมาส 4/2561 แย่ลงจากไตรมาสที่แล้ว
3) ดัชนีสภาพคล่องการเงินครัวเรือนไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 81.2 หมายความว่า สภาพคล่องการเงินครัวเรือนไตรมาส 4/2561 แย่ลงจากไตรมาสที่แล้ว
4) ดัชนีการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือนไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 96.8 หมายความว่า การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือนลดลงน้อยกว่าไตรมาสที่แล้ว
5) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 23/2561 เท่ากับ 85.7 หมายความว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานลดลงจากไตรมาสที่แล้ว
6) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานคาดการณ์ไตรมาส 1/2562 เท่ากับ 83.1หมายความว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสาน 1/2562 มีแนวโน้มแย่ลง
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ได้คะแนน 39.1 เต็ม 100 ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในไตรมาสที่แล้วซึ่งได้คะแนน 32.9 ขณะที่ผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้คะแนน 39.2 เต็ม 100 ซึ่งการสำรวจในไตรมาสที่แล้วได้คะแนน 37.4 แม้คะแนนผลงานด้านเศรษฐกิจและผลงานโดยรวมของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าครึ่ง
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ 53.7 เพศชายร้อยละ 46.3 อายุ 18-30 ปี ร้อยละ 7.1 อายุ 26-30 ปี ร้อยละ 11.2 อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 26.1 อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 32.4 อายุ 51- 60 ปี ร้อยละ 18.0 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 5.2
การศึกษา ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 29.7 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 22.8 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 17.3 ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 5.4 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 21.6 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 3.2
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 40.4 รองลงมารับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.7 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.2 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.9 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.9 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 5.3 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.5 และ อื่นๆ ร้อยละ 1.1
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่ รายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 36.9 รองลงมามีรายได้อยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 18.5 รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 15.2 รายได้ระหว่าง 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 13.6 รายได้ระหว่าง 20,001-40,000 ร้อยละ 12.1 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไปร้อยละ 3.7
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้วความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น