พลโท สมศักดิ์ สมรักษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ผู้แทนเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 664 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 89 ราย ผู้บาดเจ็บ 675 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 43.22 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 31.48 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.60 รถปิคอัพ 4.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.91 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.95 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.14 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 04.00 น. ร้อยละ 28.61 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,048 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,823 คน เรียกตรวจยานพาหนะ933,344 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 185,944 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 50,013 ราย ไม่มีใบขับขี่ 45,323 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (24 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (31 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (27 ธ.ค.61 – 1 ม.ค.62) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,425 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 410 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,516 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก พังงา แพร่ แม่ฮ่องสอน สตูล และสมุทรสงคราม จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (109 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (24 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (127 คน)
พลโท สมศักดิ์ สมรักษ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนบางส่วนยังคงอยู่ระหว่างการเดินทางกลับจากภูมิลำเนา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้สั่งการให้ ศปถ. ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตลอดเส้นทางอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจร โดยเปิดช่องทางพิเศษเพื่อเร่งระบายรถ และปิดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ ตั้งกรวยริมไหล่ทาง ปิดจุดกลับรถ คุมเข้มเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ และง่วงหลับใน รวมถึงเน้นย้ำให้ขนส่งจังหวัดเข้มงวดการเตรียมความพร้อมของพนักงานขับรถ โดยเฉพาะ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดและการใช้สารเสพติดทุกครั้งก่อนขับรถ และให้ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด อีกทั้งจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอ ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารตกค้าง พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามมาตรการ "ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ" โดยพิจารณายึดรถ และใบอนุญาตขับรถ พร้อมควบคุมตัวเพื่ออบรมความประพฤติ ตลอดจนให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สิทธิ์การรักษาพยาบาลและความคุ้มครองด้านการประกันภัย เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้รับข้อมูลการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุอย่างรอบด้าน
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2562 พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว ในพื้นที่ครอบคลุมทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 รวม 6 วัน (27 ธ.ค.61 – 1 ม.ค.62) พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดจากการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว รวมถึงทัศนวิสัยไม่ดี จึงขอฝากเตือนประชาชนให้เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนขับรถ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มไม่ขับ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง อย่างไรก็ตาม ศปถ.จะเร่งผลักดันการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นระบบทั้งการจัดเก็บ ติดตาม และประเมินผล ที่ครบวงจร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุดและสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล