โรงพยาบาลชลบุรี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) จัดงาน "เชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21 ภาคตะวันออก" ใน โครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ มูลนิธิไชน่าเมดิคัลบอร์ดประจำประเทศไทย (CMB) ให้การสนับสนุน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษากับโรงพยาบาลชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพรวมถึงสมรรถนะกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ เน้นคลินิกหมอครอบครัว ด้วยหลักเรียนร่วมสหวิชาชีพ (Interprofessional Education-IPE) และการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่จะมาช่วยดูแลเรื่องอาชีวเวชศาสตร์ในกลุ่มแรงงานไทยและต่างชาติในพื้นที่อุตสาหกรรม โดย นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติร่วมบรรยายพิเศษ "กำลังคนที่ตอบสนองต่อกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ" และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อดีตผู้ตรวจฯ สธ. เขตสุขภาพที่ 6 เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดร.ลีวีอู เวดราสโก Technical Officer World Health Organization (WHO) และ ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการ ศสช. ณ ห้องประชุมเฉลิมราชสมบัติ ชั้น 9 อาคารเฉลิมราชสมบัติ โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี โดยมีบุคลากรสาธารณสุขให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน เมื่อเร็ว ๆ นี้
นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ที่ปรึกษา รมว.สธ.) กล่าวว่า สธ.มีนโยบายปฏิรูประบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถจัดการตนเองด้านสุขภาพ ผ่านทีมหมอครอบครัว ซึ่งจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหัวหน้าทีม คอยให้คำปรึกษาและร่วมดูแลประชาชน ถือเป็นการส่งแพทย์ลงสู่พื้นที่ตำบล หวังให้ประชาชนมีแพทย์เป็นญาติ ตั้งเป้าในอีก 10 ปี ข้างหน้า คนไทยทุกคนจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำตัวใน 4 ด้าน ได้แก่ จัดระบบบริการคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 4 คน นักวิชาการหรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข 4 คน ทันตาภิบาล 1 คน แพทย์แผนไทย 1 คน เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1 คน โดยหมอครอบครัว 1 ทีม ดูแลประชาชนในอัตราส่วน 1: 10,000 คน 2.กระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัวมุ่งเน้นเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้มุ่งที่โรคหรือการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยได้ในแบบองค์รวม ทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมรอบตัว 3.เชื่อมโยงกับระบบสุขภาพอำเภอและคณะกรรมการสุขภาพอำเภอ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.เชื่อมโยงระบบบริการด้วยระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อในเขตบริการสุขภาพ
"หลักการของเวชศาสตร์ครอบครัว ทุกสหสาขาวิชาชีพด้านสาธารณสุขในทีมหมอครอบครัว ต้องรู้ลึกในสาขาวิชาชีพของตนเองเพื่อที่จะสามารถรักษาโรค รู้กว้างในด้านเวชศาสตร์ครอบครัวรวมถึงบริบทของชุมชน เพื่อดูแลประชาชนในองค์รวมครบรอบด้าน ยังต้องมีทักษะในการทำงานเป็นทีมในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการดูแลประชาชนในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม" ที่ปรึกษา รมว.สธ. ระบุ
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อดีตผู้ตรวจฯ สธ. เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า สำหรับเวชศาสตร์ครอบครัวของเขตพื้นที่สุขภาพเขต 6 ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษเนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีระบบการดูแลด้านสาธารณสุขที่ครบวงจรแก่ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน หรือ "อาชีวเวชศาสตร์" ทั้งการป้องกันการเกิดโรคที่เน้นเป็นพิเศษ การดูแลสุขอนามัย และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมกับชุมชน
"การผลักดันเรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวที่เสริมด้วยอาชีวเวชศาสตร์ เป็นนโยบายที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้ให้เขตสุขภาพที่ 6 ทำงานร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่การพัฒนาระบบให้บริการในพื้นที่ ไปจนถึงด้านการพัฒนาการเรียนการสอนของทางคณะแพทยศาสตร์ ที่จะเน้น Community Based Learning สำหรับนิสิตแพทย์ ที่ต่อไปจะยึดการเรียนรู้จากพื้นที่จริงในชุมชนเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้หลักสูตรเสร็จแล้วและอยู่ในระหว่างการนำมาใช้ โดยหวังผลให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพได้มากทั้งในส่วนของประชาชนเองและงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างเขตสุขภาพที่ 6 ก็มีโรงพยาบาลบ้านโพธิ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำลเทพราช ใน จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้นแบบในเรื่องดังกล่าว" นพ.ธเรศ ชี้แจงเพิ่มเติม
ขณะที่ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นพี่เลี้ยงช่วยในการผลิตบัณฑิตแพทย์ในเขตสุขภาพที่ 6 มานานแล้ว แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่คือการปรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของทางจุฬาฯ เพื่อให้นิสิตเข้ากับชุมชนได้มากขึ้น เชี่ยวชาญการรักษาอาการเจ็บป่วยในเคสทั่วไประดับปฐมภูมิและทุติยภูมิมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งพัฒนาการรักษาในระดับตติยภูมิ โดยใช้พื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 เป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้
"หลักสูตรใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่เราเปิดในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา จะเพิ่มระยะเวลาให้นิสิตมีโอกาสได้เลือกเรียนตามความถนัดมากขึ้น จะได้เรียนอย่างมีความสุขเพราะได้ศึกษาในสิ่งที่ตนเองชอบ จะพบว่านิสิตแพทย์ จุฬาฯ จะมีความสามารถในหลายๆ ด้าน หลายคนมีความสนใจในเรื่องการทำวิจัย หรือบางกลุ่มต้องการเรียนเชิงลึก ขณะที่บางคนต้องการเรียนในเรื่องของชุมชน แน่นอนว่านิสิตที่มีความสนใจในการเป็นแพทย์ในชุมชนนั้น จะทำให้เขามีความสนใจในการศึกษาเพิ่มเติม อันนี้จะได้ประโยชน์ทั้งตัวผู้เรียนและตัวชุมชนด้วย แต่ส่วนพื้นฐานของการเป็นแพทย์ หลักสูตรใหม่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะมีความรู้เท่าเทียมกัน หากแต่จะมีพหุศักยภาพของตนเองที่จะไปเพิ่มมูลค่าในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี โรงพยาบาลชลบุรีได้รับความช่วยเหลือจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าช่วยเป็นพี่เลี้ยงในกระบวนการเรียนการสอนด้านการแพทย์ รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยลัยมหิดล ที่จะเข้ามาให้ความร่วมมือและช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในอนาคต นอกจากนี้ โรงพยาบาลชลบุรียังได้ขยายองค์ความรู้พร้อมพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับโรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี โดยในอนาคตจะขยายให้มีสถาบันทางการแพทย์ครบทุกจังหวัดทั่วภาคตะวันออก และเร่งขับเคลื่อนเรื่องหลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชน (District Health System-DHS) ที่เน้นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) และคลินิกหมอครอบครัว ในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสุขภาพ
ดร.ลีวีอู เวดราสโก Technical Officer WHO กล่าวตบท้ายว่า องค์การอนามัยโลกทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ต่างมุ่งที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชาชนในทุกระดับ โดยรากฐานของหลักประกันสุขภาพนี้ คือระบบดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีการนำไปใช้งานในทั่วโลก เพราะเป็นสิ่งที่เข้ามาดูแลชุมชนและผู้คน โดยแนวคิดนี้จะช่วยให้การดูแลสุขภาพเข้าไปถึงผู้คนได้มากขึ้น
"เราจะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวในทุกหนทางที่เป็นไปได้ พร้อมเชื่อมต่อประสบการณ์จากนานาประเทศ อีกทั้งยังจะแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีจากประเทศไทยให้กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงนานาประเทศในอนาคต" ดร.ลีวีอู กล่าว
HTML::image( HTML::image( HTML::image(