"ที่ผ่านมา สวทน. ได้มีมาตรการส่งเสริมด้านการนำงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ผ่านมาตรการการให้สิทธิทางภาษี ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร โดยเห็นได้จากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาที่เติบโตขึ้น จากร้อยละ 0.25 ต่อจีดีพีของประเทศ เมื่อปี 2549 จนถึงร้อยละ 0.78 ในปี 2559 แต่นอกเหนือจากมาตรการทางภาษีที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาแล้ว เรายังต้องมีมาตรการด้านอื่น ๆ ที่ดำเนินการควบคู่ไปด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ได้จริง ในฐานะหน่วยงานจัดทำนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงานให้ทุนและภาคเอกชน มาช่วยระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการประชุมครั้งนี้ โดยความเห็นที่ได้จากการประชุมทั้งหมด สวทน. จะนำไปวิเคราะห์และขับเคลื่อนให้เกิดความชัดเจนและใช้ได้จริงต่อไป" ดร.กิติพงค์ กล่าว
ดร.กิติพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานให้ทุน มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ได้ให้ความคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปศึกษาเพื่อพัฒนาให้เกิดมาตรการส่งเสริมการนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งเรื่องทำอย่างไรให้งานวิจัยขายได้ ความพร้อมและขีดความสามารถของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและเอกชนที่พร้อมขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งได้มีการระดมความคิดทั้งในส่วนปัจจัยที่จะปลดล็อกให้เกิดนำผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง เรื่อง Technology Transfers ที่จะสามารถทำให้การบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ยิ่งดีขึ้น รวมถึงการสร้างศักยภาพให้หน่วยบริหารจัดการเทคโนโลยี (TLOs) ว่า ไทยควรพัฒนาหรือส่งเสริมอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ด้านผู้แทนจากมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยนว่า ผลงานวิจัยของไทยมีอยู่เยอะแต่ไม่ได้ออกสู่ตลาด เนื่องจากไม่รู้จักตลาด มองตลาดไม่เป็น ทำให้ผลงานไม่ถูกนำมาต่อยอด จึงอยากให้มีหน่วยงานกลางที่เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดมาเป็นพี่เลี้ยง (mentors) ให้กับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยที่ต้องการนำผลงานวิจัยออกสู่ตลาด ซึ่งเชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาด จะทำให้สามารถสร้างสตาร์ทอัพได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก สอดคล้องกับความเห็นของผู้แทนภาคเอกชน ที่เสนอในที่ประชุมว่า งานวิจัยแต่ละชิ้นควรมองถึงความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ ต้องมีการทำแผนธุรกิจ และอยากให้มีการเปลี่ยนมุมมองว่าคุณค่าของงานวิจัยไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความต้องการและขนาดของตลาดด้วย ถ้านักวิจัยรู้จักตลาด การที่จะทำให้งานวิจัยขายได้ก็จะเป็นเรื่องไม่ยาก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit