แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เผยว่า การใช้ศิลปะบำบัด (Art Therapy) เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้พิการทางสติปัญญาเป็นแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งที่สถาบันราชานุกูลใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางพัฒนาและสติปัญญามากว่า30ปี ซึ่งได้มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการมาอย่างต่อเนื่อง ในการค้นหาความผิดปกติบางอย่างของกระบวนการทางจิตใจ และใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพ เสริมสร้างทักษะการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาให้สามารถทำกิจกรรมที่ละเอียดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ลดปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรม ผ่อนคลายความตึงเครียด และเสริมสร้างศักยภาพในด้านต่างๆ ทั้งนี้ พบว่า ร้อยละ 89.90ของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา มีทักษะดีขึ้น 1 ระดับ และร้อยละ 81.57มีทักษะด้านการควบคุมตนเองและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ร้อยละ 96มีสมาธิเพิ่มขึ้นหลังจากทำกิจกรรมทางศิลปะ
คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) กล่าวเสริมว่า ทางแผนงานฯ เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ได้ทำงานร่วมกันในการใช้พลังศิลปะและหนังสือภาพพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน และผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ รวมถึงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ น่ามอง น่าอยู่ เพื่อชุมชนต่าง ๆ หากทุกครอบครัวและสังคมไทยได้มีความรู้ความเข้าใจในสื่อแขนงนี้ ย่อมจะช่วยให้เด็ก ๆ ของเราได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น งานในวันนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสติปัญญาหรือผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาได้แสดงออกในศักยภาพทางศิลปะได้อย่างสร้างสรรค์เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม และยังคุณค่าต่อผู้รับบริการ ผู้ป่วย ญาติ รวมถึงบุคลากรของสถาบัน ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปกรรมที่สร้างความสดใสให้กับเขตดินแดง และคาดหวังให้สังคมเกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้พิการทางสติปัญญา และพร้อมที่เปิดโอกาสในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
การรวมพลังจิตอาสาครั้งนี้ มีทั้งผู้พิการทางสติปัญญา ศิลปินนักวาดการ์ตูน เด็กเล็ก วัยรุ่น รวมถึงครอบครัว ตัวอย่างเช่น คุณณัฐธยาน์ เถียรถาวร ที่มาเป็นจิตอาสาทั้งครอบครัว คุณณัฐธยาน์กล่าวว่า ปกติหากมีเวลาว่าง จะพยายามส่งเสริมให้ลูกสาวมาทำงานจิตอาสา เพราะงานจิตอาสาช่วยให้ลูกได้ฝึกทักษะในด้านต่าง ๆ ทั้งทักษะทางสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น อีกทั้งยังเชื่อว่างานจิตอาสาจะช่วยพัฒนาเด็กในการเป็นผู้ให้ ทำให้มีจิตใจอ่อนโยน เมตตา เข้าใจเพื่อนมนุษย์ทุกคนโดยไม่มีความแตกต่าง
ในขณะที่ฟ้าใส มะลิแก้ว นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่สมัครมาร่วมเป็นจิตอาสาผ่านทางเว็บไซต์ธนาคารจิตอาสาพร้อมกับเพื่อน ๆ กล่าวว่า การได้มาทำงานจิตอาสาครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความสุขจากการเป็นผู้ให้แล้ว ยังได้มีโอกาสมาสัมผัสใกล้ชิดกับน้อง ๆ ผู้พิการทางสติปัญญา ทำให้เห็นว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้ทุกคนน่ารัก จิตใจดี ไม่ได้มีสิ่งใดผิดแผกแตกต่างจากคนปกติทั่วไปเลย
ด้านคุณสละ นาคบำรุง คณะทำงานเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า ภาพวาดตลอดกำแพงทั้งหมดมาจากการสร้างสรรค์ร่วมกันของศิลปินนักวาดการ์ตูนจิตอาสาจำนวนมากกว่า20 ชีวิต แต่ละภาพมีความหมายเชื่อมโยงกับเรื่องราวของทั้งเด็ก ผู้ปกครอง รวมถึงการให้บริการภายในสถาบันราชานุกูล การมารวมตัวกันครั้งนี้ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ในสังคมอันกว้างใหญ่นี้จะไม่มีใครถูกทิ้ง
ให้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ทั้งนี้เมื่อผลงานแล้วเสร็จ แต่ละภาพจะมีการทำคิวอาร์โค้ดประกอบ หากผู้ใดผ่านไปที่สถาบันราชานุกูล สามารถแวะเยี่ยมชมและแสกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเข้าไปอ่านความหมายของแต่ละภาพที่ศิลปินตั้งใจถ่ายทอดไว้ได้ด้วยในอีกทางหนึ่ง