“เด็กจะมีสุขภาพดีได้ หากพ่อแม่สื่อสารอย่างถูกวิธี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเนื่อง” เนสท์เล่ เผยก้าวเล็กๆ แห่งการเรียนรู้ ในโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี ก้าวสู่ปีที่ 3 ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 12

13 Nov 2018
โภชนาการมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อรากฐานการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงวัยปฐมวัย หรือช่วง 3-5 ปีแรกของชีวิต แม้ปัจจุบันภาวะขาดสารอาหารในเด็กไทยวัยปฐมวัยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เด็กไทยส่วนหนึ่งยังประสบปัญหาด้านโภชนาการที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะภาวะโภชนาการเกิน ซึ่งนำไปสู่โรคอ้วนในวัยเด็กและส่งผลอันตรายต่อเนื่องสู่วัยผู้ใหญ่
“เด็กจะมีสุขภาพดีได้ หากพ่อแม่สื่อสารอย่างถูกวิธี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเนื่อง” เนสท์เล่ เผยก้าวเล็กๆ แห่งการเรียนรู้ ในโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี ก้าวสู่ปีที่ 3 ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 12

ภายในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ได้มีการกล่าวถึงความสำคัญของโภชนาการเด็ก ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO, 2018) พบว่าแนวโน้มเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีน้ำหนักเกินมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 38% ระหว่างปี 2000-2016 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง ไม่ทานผัก ดื่มน้ำน้อย ขยับร่างกายไม่เพียงพอ และติดหน้าจอ การปรับให้เด็กมีพฤติกรรมด้านโภชนาการที่เหมาะสมจึงต้องอาศัยการรวมพลังของหลายฝ่าย โดยเฉพาะพ่อแม่และผู้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก รวมถึงคุณครู ที่จะต้องปลูกฝังนิสัยที่เหมาะสมและเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก เพราะเด็กวัยนี้จะเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้ใหญ่ใกล้ตัวเป็นหลัก

ตลอดสองปีที่ผ่านมา "โครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี" (United for Healthier Kids) นำโดย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และองค์กรพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน มุ่งจุดประกายและสร้างแรงจูงใจให้ครูและผู้ปกครองได้ริเริ่มปลูกฝัง 3 สุขนิสัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย ได้แก่ 1) การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ 2) การเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน และ 3) การขยันขยับเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนักจิตวิทยาคลินิก นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ และพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ ร่วมให้ความรู้และแนะนำเทคนิคต่างๆ เพื่อกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านโภชนาการที่เหมาะสมให้กับเด็กอย่างต่อเนื่องทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน โดยได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งจากคุณครูและผู้ปกครอง ซึ่งทุกฝ่ายมีความตระหนักและมุ่งมั่นที่จะช่วยกันปรับพฤติกรรมเด็กเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

คุณสุมิตรา ตันติพิทักษ์วงศ์ คุณแม่ของ น้องอู่จี๊ หนึ่งในครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการฯ มาตลอด เปิดเผย ว่า "ก่อนหน้านี้น้องอู่จี๊มีปัญหาน้ำหนักเกินและติดหน้าจอ คุณแม่รู้สึกกังวลมาก ทางโครงการฯ แนะนำว่าการจะปรับพฤติกรรมลูกนั้นต้องเริ่มที่พ่อแม่ก่อน ดังนั้นสิ่งแรกที่ทำคือการปรับอารมณ์ของตัวเอง ควบคุมอารมณ์ หายใจลึกๆ เวลาที่น้องงอแง เมื่ออารมณ์ของเราและลูกสงบลงแล้วจึงค่อยๆ ฝึก เช่นเดียวกับพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การทานผัก ก่อนหน้านี้คุณพ่อกับคุณแม่เองก็ไม่ได้ทานผักมากนัก เราเลยคุยกันว่าจะต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกทำตาม เลยชวนกันไปซื้อผักทั้งครอบครัว และช่วยทำอาหาร และถ้าอยากให้ลูกทานผักมากขึ้น ทางโครงการฯ ก็แนะนำว่าต้องทำให้ดูน่าทานขึ้น เช่น อาจผสมในไข่เจียว หรือชุบแป้งทอด ถ้าเราสามารถชวนให้เขามีส่วนร่วมในการทำอาหาร เป็นลูกมือคอยหยิบจับส่วนผสม เขาก็จะรู้สึกถึงความมีส่วนร่วม จึงรู้สึกอยากทานผักมากขึ้น"

คุณสุมิตราเล่าว่า "เพียงไม่นานพฤติกรรมของน้องอู่จี๊ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น คือ ทานผักผลไม้มากขึ้น มีวินัยในตนเองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทางโครงการฯ ยังให้เทคนิคเพื่อดึงลูกออกมาจากโลกหน้าจอด้วยการสร้างรูปแบบชีวิตประจำวันที่ให้น้องได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม 3 สเต็ป โดยเริ่มจากกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เช่น การช่วยแม่ทำกับข้าว ตามด้วยการทำกิจกรรมส่วนตัว เช่น อาบน้ำแต่งตัวเอง และขั้นสุดท้ายเป็นการทำกิจกรรมเพื่อความสุขของน้องหลังจากได้ทำตามเงื่อนไขของแม่แล้ว เช่น ได้เล่นเกมส์ 1 ชั่วโมงหลังทำการบ้านเสร็จ คุณแม่ค่อยๆ ปรับตามเทคนิคนี้บ่อยๆ เริ่มเห็นผลแล้วว่าน้องมีระเบียบวินัยในตนเองมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ได้มาร่วมเรียนรู้เพื่อปรับพฤติกรรมลูกให้เหมาะสมไปพร้อมๆ กับโครงการนี้"

อาจารย์รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษาโครงการฯ แนะนำกลยุทธ์ "ฮีโร่สร้างฮีโร่" นั่นคือ อยากให้ลูกปรับ พ่อแม่ต้องเปลี่ยนก่อน โดยมีหลักการง่ายๆ 3 ข้อ ได้แก่ 1) สร้างการมีส่วนร่วมให้กับเด็กผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การปลูกผักทานเอง จะทำให้เด็กรู้สึกถึงความผูกพัน เกิดความรับผิดชอบ และอยากทานผักที่ตัวเองปลูก 2) การใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวกในการสื่อสารกับลูก เช่น ชมทันทีเมื่อลูกทำพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยตัวเอง และตักเตือนอย่างมีหลักการเมื่อทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ด้วยคำพูดที่ไม่ประชด ไม่เปรียบเทียบ และไม่ทำลายคุณค่าในตัวเด็ก 3) เป็นฮีโร่ให้ลูกเห็น ซึ่งหมายถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพราะสำหรับเด็กวัยนี้แล้ว พ่อแม่คือแบบอย่างที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก

คุณสุกัลยา มาตรา ครูโภชนาการ โรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทร คุณแม่ของ น้องอันดา อีกหนึ่งครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการฯ แบ่งปันประสบการณ์ว่า "ในฐานะที่เป็นครูโภชนาการที่ดูแลโครงการฯ นี้ให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ตั้งแต่ต้น สองปีผ่านมาเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเด็กๆ ในโรงเรียน จึงอยากจะนำเทคนิคต่างๆ ของโครงการฯ มาปรับใช้กับที่บ้านด้วย ก่อนหน้านี้ น้องอันดาจะไม่ยอมกินผักและเลือกทานเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบ บางครั้งไม่ได้กินน้ำหวานหรือขนมกรุบกรอบที่ชอบก็จะงอแง ไม่ยอมทำการบ้าน คุณแม่จึงลองปรับเทคนิคที่เรียนรู้มาจากโครงการฯ เช่น หลังเลิกเรียน แม่จะให้น้องอันดาได้ทำกิจกรรมส่วนตัว คือ ทำการบ้านของตัวเองก่อนในระหว่างรอแม่เลิกงาน เสร็จแล้วจึงค่อยมาทำกิจกรรมสนุกๆ เช่นออกกำลังกายกับพ่อแม่ ช่วยกันทำอาหาร แล้วจึงทานข้าวด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ น้องอันดามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้น จากที่ไม่อยากทำการบ้านก็สามารถทำการบ้านเองได้ มีระเบียบวินัยมากขึ้น สุขภาพดีขึ้นด้วย"

นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า "ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราได้ร่วมมือกับนักวิชาการและครูโภชนาการเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เด็กไทยมีสุขภาพดีขึ้นในโรงเรียน และขยายผลสู่ที่บ้านมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์จากการดำเนินงานโดยรวมนับว่าน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง ครูและผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพในเด็กมากขึ้น โดยกว่า 80% ของครูและผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการทานผักผลไม้ มีการจัดเตรียมผักผลไม้ให้เด็กๆ รับประทานบ่อยขึ้น ซื้อเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัดน้อยลง และดึงเด็กๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันและออกจากหน้าจอ ผลที่ตามมา นอกจากสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว ความสัมพันธ์ของทุกคนก็ดีตามไปด้วย แต่โครงการฯ ยังมีความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งทีมงานได้เรียนรู้และปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกๆ ที่ทีมงานได้ไปลงพื้นที่ พบว่ากิจกรรมต่างๆ ได้ผลดีมากในระดับโรงเรียน แต่เมื่อปิดเทอม เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ มีการผ่อนปรนลง ทำให้พฤติกรรมที่เคยฝึกและปลูกฝังจากโรงเรียนหายไป จึงจำเป็นต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านด้วย"

ปัจจุบัน โครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี เข้าถึงผู้ปกครองและเด็กกว่า 1,000 ครอบครัว จาก 5 โรงเรียนต้นแบบ ได้แก่ โรงเรียนวัดหนัง โรงเรียนวัดนาคปรก โรงเรียนอนุบาลศูนย์ศิลปาชีพบางไทร โรงเรียนศรีบางไทร และโรงเรียนอรรถวิทย์ และให้ความรู้และจุดประกายคุณครูผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กอย่างต่อเนื่องผ่านเฟสบุ๊กที่มีผู้ติดตามเพจมากกว่า 63,000 คน สำหรับในปีที่ 3 นี้ โครงการฯ จะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างให้เด็กไทยมีพฤติกรรมด้านโภชนาการที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานไปสู่สุขภาพร่ายกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตที่สดใสในวัยต่อๆ ไป โดยทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ "รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี" (United for Healthier Kids) ผ่าน Facebook.com/U4HKThailand หรือค้นหา United for Healthier Kids TH ผ่าน Facebook

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ "รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี" (United for Healthier Kids)

บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผนึกกำลังกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มรักลูก (บริษัทอาร์แอลจี จำกัด) เปิดตัวโครงการ "รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี" (United for Healthier Kids) เมื่อ 14 มิ.ย. 2559 เพื่อจุดประกายพ่อแม่ และผู้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่วัย 3-12 ปีที่แข็งแรงโดยการปลูกฝัง 3 สุขนิสัยสำคัญ ได้แก่ การกินอาหารให้หลากหลายเพิ่มผักผลไม้ เลือกดื่มน้ำเปล่า และขยันขยับ เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น พร้อมสร้างสรรค์ "มื้ออาหารของฮีโร่" (Hero Meal) เครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นการปรับเปลี่ยนและปลูกฝังพฤติกรรมที่พึงประสงค์เหล่านี้ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน

สารถึงบรรณาธิการ

เนสท์เล่เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุม 191 ประเทศทั่วโลก พนักงานเนสท์เล่กว่า 328,000 คนต่างมีพันธสัญญาต่อเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพดีสู่อนาคต เนสท์เล่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้คนและสัตว์เลี้ยงครอบคลุมในทุกช่วงวัย มากกว่า 2,000 แบรนด์ ทั้งที่เป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก เช่น เนสกาแฟ เนสเปรสโซ ตลอดจนแบรนด์ที่เป็นที่ชื่นชอบในท้องถิ่นอย่าง ตราหมี หรือมิเนเร่ บริษัทฯ ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ปัจจุบัน เนสท์เล่ก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเวเวย์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“เด็กจะมีสุขภาพดีได้ หากพ่อแม่สื่อสารอย่างถูกวิธี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเนื่อง” เนสท์เล่ เผยก้าวเล็กๆ แห่งการเรียนรู้ ในโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี ก้าวสู่ปีที่ 3 ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 12 “เด็กจะมีสุขภาพดีได้ หากพ่อแม่สื่อสารอย่างถูกวิธี และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเนื่อง” เนสท์เล่ เผยก้าวเล็กๆ แห่งการเรียนรู้ ในโครงการรวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี ก้าวสู่ปีที่ 3 ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 12