ท้าประลองทักษะสะเต็ม ปลูกฝังความเป็นวิศวกรตัวน้อย

14 Nov 2018
เสียงหัวเราะและรอยยิ้มแสดงถึงความสนุกสนานในการลงมือทดลองทำกิจกรรม "กระดานเลื่อนหิมะ" และ "ดาวเทียมมหาสนุก" ที่ถึงแม้การทดลองจะล้มเหลวหลายครั้ง แต่เด็กๆ ก็ยังรู้สึกสนุกสนานที่จะแก้ไขและคิดวิธีทำให้การทดลองประสบความสำเร็จให้ได้…และนี่คือเสน่ห์ของการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแบบ Hands-on หรือกิจกรรมที่เน้นให้เด็กได้ลงมือทำ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ ทำงานเป็นทีม ทั้งยังช่วยจุดประกายและต่อยอดการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนให้หันมาสนใจสะเต็มด้วยการนำกิจกรรม Enjoy Design Challenge ได้แก่ "กระดานเลื่อนหิมะ" (Bobsleds) และ "ดาวเทียมมหาสนุก" (Soaring Satellites) ซึ่งได้รับการพัฒนาจากกิจกรรมต้นแบบของ Museum of Science (MOS) เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ภายใต้คอนเซ็ปท์ "ทุกคนสามารถเป็นวิศวกรได้" เพื่อช่วยเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการให้เด็กๆ ในสาขาสะเต็มโดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน และยังช่วยให้เยาวชนอยากปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์อย่างสนุกสนานและเกิดความอยากรู้อยากเห็นในการเรียนรู้และทดลอง ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดและการออกแบบเชิงวิศวกรรมศาสตร์ อันเป็นหนึ่งในสาขาสะเต็มที่ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทาง ด้วยเหตุนี้ องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างลงทุนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสะเต็มในบริบทที่หลากหลาย การเรียนรู้สะเต็มนอกห้องเรียน (Informal STEM Education) ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้สะเต็มให้แก่เยาวชนไทยในปัจุจบัน ซึ่งจะเติบโตเป็นแรงงานไทยในอนาคต
ท้าประลองทักษะสะเต็ม ปลูกฝังความเป็นวิศวกรตัวน้อย

กิจกรรม Enjoy Design Challenge 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมกระดานเลื่อนหิมะ (Bobsleds) เด็กจะมีโอกาสสร้างกระดานเลื่อน โดยเด็กเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการสร้างเอง ว่าอยากให้วิ่งได้เร็ว หรือช้า จากวัสดุที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งแต่ละวัสดุจะเป็นปัจจัยที่ให้การเคลื่อนที่เร็ว ช้าต่างกัน เช่น น้ำหนัก พื้นผิววัสดุ โดยเด็กจะเรียนรู้ สร้างต้นแบบ และทดสอบได้ด้วยตนเอง อีกทั้งมีกระบวนการที่ทำให้เด็กสามารถปรับแต่ง (Re-design) ตามที่ต้องการจนกว่าจะพอใจ ซึ่งเด็กจะได้แข่งขันกับตัวเองตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับ กิจกรรมดาวเทียมมหาสนุก (Soaring Satellites) เด็กจะมีโอกาสสร้างยานดาวเทียมที่จะประกอบไปด้วยเสาส่งดาวเทียมและวัสดุที่เป็นตัวยานให้สามารถบินอยู่ได้ในท่ออากาศตามระยะทางและเวลาที่กำหนด เด็กๆ จะต้องนำแนวคิดเรื่องน้ำหนักและการลอยตัวมาใช้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้ตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่สอดแทรกกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรมศาสตร์ที่มีอยู่รอบตัวเรา ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางวิศวกรรมผ่านกระบวนการคิด ออกแบบ และทดลองทำชิ้นงานจริง และปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทั้งสองแห่งของ อพวช. คือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อ. คลองห้า จ.ปทุมธานี และ ภายใน Enjoy Maker Space ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจามจุรีสแควร์

มีเยาวชนกว่า 71,000 คน ได้ร่วมกิจกรรมทั้ง 2 นี้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปี 2561 โดยมีเยาวชนได้แสดงมุมมองต่อกิจกรรมนี้ ด.ญ.สุชานาฎ ยาทอง นักเรียนชั้น ป.5/5 โรงเรียนอนุบาลลำพูน กล่าวว่า "ทำให้หนูได้ฝึกจินตนาการและยังฝึกความคิดสร้างสรรค์ว่าเราจะทำเครื่องบินหรือดาวเทียมให้ลอยได้อย่างไร ทำให้เรามีจุดมุ่งหมายว่าเราต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร ถ้าไม่สำเร็จในครั้งนี้ ครั้งหน้าเราจะแก้ปัญหาและจะพยายามทำให้สำเร็จได้อย่างไรค่ะ วันนี้หนูสนุกกับการทำการทดลองมากเลย รู้สึกเหมือนว่ากำลังเล่นแต่ได้ความรู้ไปในตัวด้วยค่ะ"

ด้าน ด.ญ.เบญญาภา พัฒนพันธ์ชัย นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนโสมภานุสรณ์ เด็กหญิงผู้รักการทดลองเป็นชีวิตจิตใจ กล่าวว่า "รู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ทดลองเล่นทั้ง 2 กิจกรรมนี้ เพราะตอนเล่นทำให้ได้ฝึกคิดว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้จรวดลอยขึ้นอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดไว้ได้ การทดลองในวันนี้ทำให้หนูได้เรียนรู้ เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วนำไปสู่การหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการทดลองได้ค่ะ"

ด้านมุมมองของผู้ปกครอง ครูนกเล็ก เจ้าของเพจเฟซบุ๊กชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่าสามแสนแปดหมื่นคน ที่มีโอกาสได้พาลูกสาวสุดน่ารักน้องถูกใจมาร่วมทำกิจกรรม กล่าวว่า "กิจกรรมการทดลองดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อเด็กๆ เป็นอย่างมาก นอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้วยังทำให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิดแก้ปัญหา ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง โดยการที่เด็กได้ประดิษฐ์ของเล่นเองนั้นเปรียบเสมือนการยอมรับความคิดของเด็กและเมื่อของเล่นสามารถนำไปใช้ได้จริงจะทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ในฐานะที่เป็นทั้งแม่และครูมีความคิดว่ากิจกรรมทั้งสองนี้สามารถเป็นรากฐานที่จะช่วยปลูกฝังและส่งเสริมให้เด็กที่ได้ทดลองเล่นมีใจรักในวิชาสาขาสะเต็มได้"

HTML::image( HTML::image( HTML::image(