วันหนึ่งถนนที่เธอคุ้นเคยและใช้เป็นเส้นทางกลับบ้านเป็นประจำ ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไปตลอด เพียงเพราะผู้ขับขี่เมาแล้วขับ…..และหากวันนั้น เธอไม่ได้สวมหมวกกันน็อก เธออาจไม่มีโอกาสได้มาถ่ายทอดเรื่องราวเป็นอุทาหรณ์ให้กับใครอีกหลายคนในวันนี้
"วันนั้นเป็นเวลาประมาณสามทุ่ม นุชนั่งรอรถอยู่ริมถนนแถวบางแค เพื่อที่จะกลับเข้าบ้านหลังจากไปทำธุระ โชคไม่ดีที่วันนั้นฝนตกหนัก ทำให้ต้องรอรถนานมากจนถึงเวลาสี่ทุ่มก็ยังไม่มีรถประจำทางมา พอดีมีเพื่อนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ผ่านมาบริเวณนั้น จึงอาสาพาไปส่งที่บ้าน ซึ่งเราไม่ทราบว่าเพื่อนคนนี้ได้ดื่มแอลกอฮอล์มา ทันทีที่นุชสวมหมวกกันน็อกและล็อกสายรัดใต้คาง ขณะที่รถออกตัวไปได้เพียงไม่นาน รถมอเตอร์ไซค์ที่นุชนั่งซ้อนท้ายได้ชนเข้ากับอย่างแรงกับรถกระบะที่จอดติดไฟแดงอยู่ด้านหน้า และทุกอย่างก็มืดดับไปราวกับร่างกายโดนปิดสวิตช์" คำบอกเล่าของคุณนุช นุชจรี เหมราช ผู้เป็นเหยื่อบนท้องถนน จากเหตุการณ์เมาแล้วขับ ยังสะท้อนภาพความทรงจำในวันนั้นได้อย่างชัดเจนแม้ขณะนั้นเธออายุเพียง 15 ปี และแม้เหตุการณ์ได้ผ่านมาแล้วกว่า 24 ปี
"นุชมารู้ตัวอีกทีขณะที่กู้ภัยกำลังลากตัวนุชออกมาจากใต้ท้องรถกระบะ และนำส่งโรงพยาบาล ขณะนั้นตัวเราชาไปหมด ไม่รู้สึกอะไร แต่ได้ยินพี่ๆ กู้ภัยบอกว่าหมวกกันน็อกเราแตกละเอียด และหากไม่สวมหมวกกันน็อก ศีรษะของเราอาจจะไปกระแทกกับเพลาใต้ท้องรถหรือพื้นถนนจนถึงแก่ชีวิต หรือสมองอาจได้รับการกระทบกระเทือนจนไม่สามารถโต้ตอบได้ ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยเรามาทราบภายหลังจากทางตำรวจว่าเพื่อนของนุชที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูง เมื่อขับมาด้วยความเร็ว ประกอบกับฝนตกหนัก จึงเสียหลักทำให้รถจักรยานยนต์ชนเข้ากับท้ายรถกระบะที่จอดติดไฟแดงอย่างจัง และทำให้ตัวนุชกระเด็นเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถกระบะ จนกระดูกคอแตกทับเส้นประสาท และกลายเป็นผู้พิการหลังจากนั้นเป็นต้นมา"
กำลังใจจากครอบครัวคือแรงผลักดันให้มีลมหายใจต่อไป
"หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น นุชต้องหยุดพักการเรียน เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลในห้องฉุกเฉิน 3 เดือน จากนั้นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบปีและต้องทำกายภาพต่อเนื่อง นุชชอบเรียนภาษาแต่ความฝันที่เคยอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องจบลง จนกระทั่งปี 2551 ถึงปัจจุบัน นุชได้ทำงานเป็น call center ของบริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือคนพิการให้มีงานทำ เนื่องจากสามารถทำงานที่บ้านได้"
"นุชเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของพ่อแม่ ทำให้แม่ต้องหยุดทำงานเพื่อดูแลเรา ในขณะที่พ่อต้องเป็นเรี่ยวแรงสำคัญคนเดียวในการทำงานเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งสามคน แต่กำลังใจจากแม่และครอบครัว ทำให้เราฉุกคิดและอยากกลับมาช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด"
"หมวกกันน็อกคือสิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตคุณได้ อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา"
"พูดได้เลยว่าหมวกกันน็อกช่วยชีวิตนุชไว้ ถ้าตอนนั้นนุชไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก ก็ไม่รู้ว่านุชจะเป็นอย่างไรบ้าง ใกล้ไกล ขอให้ใส่หมวกกันน็อกและล็อกสายรัดใต้คางทุกครั้ง อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น" คุณนุช กล่าวย้ำเพื่อเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตั้งอยู่บนความไม่ประมาท
กรุงเทพมหานครร่วมรณรงค์ให้ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย สอดรับนโยบายของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อรณรงค์ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์
จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท กลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย 33.4 คน ต่อประชากร 100,000 คน และจากระบบบูรณาการข้อมูลการตายจากอุบัติเหตุทางถนน โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ในปี 2559 สูงถึง 68 คน การที่ต้องใช้ถนนร่วมกันโดยไม่มีการแบ่งแยกรถยนต์ รถโดยสาร รถบรรทุกและรถประเภทอื่น ๆ ที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง เมื่อมีการเฉี่ยวชนหรือเกิดอุบัติเหตุ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จึงมีอัตราความเสี่ยงสูงกว่ารถประเภทอื่นที่จะบาดเจ็บ พิการทุพพลภาพหรือสูญเสียชีวิต โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลให้มีการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น คือ "การไม่สวมหมวกนิรภัย" ทั้งนี้จากการสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยปี 2559 โดยมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยมีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 43 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ร้อยละ 75
"เนื่องจากพบว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-29 ปี และพบว่าประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่คือ รถจักรยานยนต์ โดยมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มเยาวชนผู้ที่ไม่มีใบขับขี่สูงขึ้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ดำเนินกิจกรรมการสื่อสารรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก ค่านิยม วัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กับประชาชน รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ผ่านกิจกรรมและสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การติดตั้งป้ายรณรงค์สวมหมวกนิรภัยบริเวณสำนักงานเขต ป้ายรณรงค์สวมหมวกนิรภัยบริเวณสถานีจักรยานสาธารณะ 50 สถานี บนถนนสายหลักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตชุมชนขนาดใหญ่ และมีปริมาณรถสัญจรผ่านในบริเวณนั้นจำนวนมาก นอกจากนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง มีแผนที่จะรณรงค์การสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างต่อเนื่อง ในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มชื่นชอบรถจักรยานยนต์ และนิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง ภายใต้ชื่อโครงการสถานศึกษา (อาชีวะ) ร่วมใจ สวมหมวกกันน็อก 100 เปอร์เซ็นต์ ปี 2561 โดยในระยะแรกได้นำร่องจัดกิจกรรมรณรงค์ในสถานศึกษา (อาชีวะ) จำนวน 6 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา" นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูล
"นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้ทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บบนท้องถนน ทั้งด้านการสื่อสารรณรงค์ และการออกแบบพัฒนาปรับปรุงถนนในกรุงเทพมหานครให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น จากการได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลกโดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety: BIGRS) เป็นระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) เพื่อมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งระบบอย่างยั่งยืน และเนื่องในวันรำลึกถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรจราจรบนท้องถนนแห่งโลก ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ผมอยากขอฝากให้ทุกคนมีจิตสาธารณะในการใช้รถใช้ถนน เพราะถนนเป็นของส่วนรวม เรื่องความปลอดภัยทางถนนจึงควรเป็นของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน" นายสุราษฎร์ กล่าวทิ้งท้าย
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit