นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ ๕ฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรสำคัญ ๕ ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งในส่วนของ กยท. รัฐบาลได้มอบนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยสนับสนุนเงินทุนและองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอื่น ๆ แก่เกษตรกรชาวสวนยางผ่านโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการ จำนวน 13,838 ราย สร้างโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางในปัจจุบันได้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น เช่น โครงการส่งเสริมใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยให้ทุกส่วนราชการจัดทำแผนความต้องการใช้ยาง พร้อมทั้งให้ กยท. จัดทำข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ยางพารา เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะข้อกำหนดของการใช้ยางพาราในงานซ่อมหรือสร้างถนน ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit