นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เผยว่า "ก.ล.ต. ได้จัดงาน FinTech Challenge ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ทั้งในส่วนผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นเวทีที่ทำให้เราสามารถรวบรวมความน่าสนใจของนวัตกรรมการเงินด้านต่าง ๆ เพราะเราเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง ไม่ใช่แต่เฉพาะธุรกิจ แต่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรา และนำไปสู่ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนของประชาชน สำหรับตลาดทุนไทยนั้นมีมูลค่าตลาดสูงถึง 110% ของ GDP บางวันซื้อขายถึงแสนล้านบาทต่อวัน แต่ปัจจุบันคนไทยยังเข้าถึงตลาดทุนน้อยมาก มีเพียง 3 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก สำหรับประเทศที่มีประชากรที่สูงกว่า 60 ล้านคน ก.ล.ต. จึงเชื่อว่า เทคโนโลยี FinTech จะเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลด้านการเงิน ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง และสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออิสรภาพทางการเงินในระยะยาวได้ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญ ทั้งนี้ผมขอแสดงความยินดีกับทีม Credit OK ที่สามารถคว้ารางวัลใหญ่ของปีนี้ไปครอง อย่างไรก็ตามทั้ง 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศนี้นับได้ว่าเป็นฟินเทคสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่ความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริง ซึ่งพร้อมนำไปต่อยอดธุรกิจ หรือพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายจากบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ สอดคล้องกับยุคไทยแลนด์ 4.0"
ทีมที่ได้รับรางวัลการประกวด "FinTech Challenge 2018 : The Discovery" ประกอบด้วย
1. ทุนนวัตกรรมประเภท Innovative FinTech จำนวน 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัล สำหรับทีมที่สามารถเสนอ นวัตกรรม หรือความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ ทีม "Credit OK" : แพลตฟอร์มที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินความเสี่ยงทางการเงินของผู้กู้ด้วยเทคโนโลยี Machine Learning จากข้อมูลหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้า ข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลจากการใช้โซเชียลมีเดีย และแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อสร้าง "เครดิตสกอร์" ที่มีความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินให้มีโอกาสได้รับการพิจารณาการกู้ยืมเงินในการขยายธุรกิจที่เหมาะสม รวดเร็ว และด้วยความเสี่ยงที่ประเมินได้ ซึ่งนอกจากจะได้เงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (Illegal Financing) ในสังคมไทยได้อีกด้วย
2. ทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote จำนวน 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล สำหรับทีมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ทีม JFINCoin : DDLP – Decentralized Digital Lending Platform บล็อกเชนแพลตฟอร์มที่ให้บริการกู้ยืมเงินสำหรับคนดี ที่นำเทคโนโลยบล็อคเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายฐานข้อมูลแบบใหม่ที่ไม่มีคนกลางมาใช้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสินเชื่อรายย่อย (Micro Loan) ที่สถาบันการเงินใหญ่ไม่สามารถขยายการบริการได้เพียงพอเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม ด้วยการทำงานระบบ Smart Contract ที่ทำงานได้เอง มาใช้ในระบบ Digital Lending ตั้งแต่ส่วนของการระบุตัวตน (KYC) การคำนวณเครดิต (Credit Scoring) และกระบวนการการกู้ยืม (Lending Process) ซึ่งความสะดวกในการให้บริการนี้จะเป็นกุญแจสำคัญให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการทางด้านการเงินเหล่านี้ได้ ไม่ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่จะนำมาซึ่งความสูญเสียในหลายๆด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
3. รางวัลพิเศษ Wealth Award ได้แก่ FINE : TAKETA (ทาเก็ตต้า) เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มบน Mobile Application (IOS & Android) ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถ Monitor & Manage การเงินของตนเองได้ง่ายขึ้น ผ่าน "ประสบการณ์ใหม่" ในการจัดการเรื่องเงินและความมั่งคั่ง เพื่อตอบโจทย์การมี "อิสรภาพทางการเงิน" ที่เรียบง่าย ใช้งานสะดวก สัมผัสถึงความสนุกในการใช้งานไปพร้อมกับการเติบโตของทรัพย์สิน ความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน โดยเข้าสู่แพลตฟอร์มผ่าน Website หรือ Download Application และเลือก Character ของ User และ Mate (คู่หูทางการเงิน) พร้อมตั้งเป้าหมายทางการเงิน แพลตฟอร์มจะช่วยคำนวนอัตราส่วนทางการเงิน, แผนการเงิน, Portfolio ทางการเงินที่เหมาะสม และสนับสนุนให้ผู้ใช้งานเริ่มสร้างนิสัย/พฤติกรรมใหม่ ๆ ทางการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายของตนเอง โดยมีการแสดงผลการเติบโต-ถดถอยของความมั่งคั่ง แบ่งปันเคล็ดลับการลงทุน และกระตุ้นเตือนให้ลงข้อมูลรับ-จ่าย ทั้งนี้ทุก ๆ การบันทึกจะได้รับคะแนนเพื่อนำไปแลกรับส่วนลด/สินค้า-บริการจากพาร์ทเนอร์ที่ร่วมสนับสนุน
นอกจากนี้ทุกทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศยังได้รับทุนสนับสนุน รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรจากโครงการฯ รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้นกว่า 400,000 บาท