“คนอีสานรุ่นใหม่กับการเมือง”

09 Nov 2018
วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2561) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานรุ่นใหม่กับการเมือง" พบคนอีสานรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ใช้ Facebook และ Youtube บ่อยมาก โดยมีความสนใจข่าวการเมืองเล็กน้อย ทั้งนี้เห็นว่าเพลงประเทศกูมีสะท้อนความจริงสังคมเป็นหลัก เกินครึ่งเห็นว่าในหมู่นักการเมืองเป็นผู้ที่ตั้งใจพัฒนาบ้านเมืองและผู้ที่มาหาผลประโยชน์ในจำนวนพอๆ กัน นอกจากนี้ยังพบว่า นโยบายพรรค ประวัติและผลงานผู้สมัคร และภาพลักษณ์พรรคการเมือง เป็นปัจจัยหลักในการเลือก สส. สุดท้ายพบว่าคนรุ่นใหม่อีสานต้องการให้พรรคการเมืองเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาพใหญ่ เศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย การศึกษา และอาชญากรรมและยาเสพติดผศ.ดร.สุทินเวียนวิวัฒน์หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ความคิดเห็นคนอีสานรุ่นใหม่ต่อการเมืองไทย ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2561 จากกลุ่มตัวอย่างคนอีสานช่วงอายุ 18 -29 ปี จำนวน 1,120 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

จากการสำรวจความคิดเห็นในการใช้โซเชียลมีเดีย พบว่า โซเชียลมีเดียประเภท Facebook Youtube และ Line ถูกใช้บ่อยมากเป็น 3 ลำดับแรก คิดเป็นร้อยละ 79.1 ร้อยละ 70.5 และร้อยละ 60.4 ตามลำดับ ตามมาด้วยร้อยละ 44.6 ใช้ Instagram บ่อยมาก และร้อยละ 21.0 ใช้ Twitter บ่อยมาก ขณะที่การใช้ Pantip WhatsApp SanpChat และ LinkedIn ไม่เป็นที่นิยมของคนอีสานรุ่นใหม่

เมื่อสำรวจความคิดเห็นด้านความสนใจข่าวการเมืองว่ามีมากน้อยเพียงใด พบว่า ส่วนใหญ่คนอีสานรุ่นใหม่สนใจข่าวการเมืองเล็กน้อย ร้อยละ 69.7 รองลงมาให้ความสนใจมาก ร้อยละ 19.6 และไม่สนใจเลย ร้อยละ 10.7 ตามลำดับ

เมื่อสำรวจความคิดเห็นที่คนอีสานรุ่นใหม่มีต่อเพลงประเทศกูมี พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.4 ให้ความเห็นว่าเป็นที่สะท้อนความจริงสังคมเป็นหลัก รองลงมา ร้อยละ 19.1 ให้ความเห็นว่าเป็นเพลงที่มีทั้งความจริงและข้อมูลที่บิดเบือน ร้อยละ 15.6 บอกว่ายังไม่ได้ฟังเพลงนี้ และมีเพียงร้อยละ 2.0 ให้ความเห็นว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นหลัก

จากนั้นสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อนักการเมืองไทย พบว่าเกินครึ่ง หรือ ร้อยละ 55.0 เห็นว่ามีผู้ที่ตั้งใจพัฒนาบ้านเมืองและผู้ที่มาหาผลประโยชน์มีจำนวนพอๆ กัน รองลงมาร้อยละ 35.7 มีความเห็นว่าส่วนใหญ่ตั้งใจมาหาผลประโยชน์ และร้อยละ 9.3 เห็นว่าส่วนใหญ่ตั้งใจมาพัฒนาบ้านเมือง

เมื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุผลหลักที่ใช้ในการพิจารณาเลือก สส. พบว่า พิจารณานโยบายพรรคเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 29.6 รองลงมาพิจารณาจากประวัติและผลงานผู้สมัคร ร้อยละ 26.7 ภาพลักษณ์พรรคการเมือง คิดเป็นร้อยละ 21.6 รองลงมาดูหัวหน้าพรรคและคีย์แมนพรรค ร้อยละ 10.8 ดูจากกระแสสังคม ร้อยละ 6.4 ผู้ปกครองแนะนำ ร้อยละ 3.8 ผู้นำชุมชนแนะนำ ร้อยละ 0.8 และพิจารณาจากการแนะนำของไอดอลที่ชื่นชอบ ร้อยละ 0.2 ตามลำดับ

เมื่อสำรวจถึงความต้องการให้พรรคการเมืองต่างๆ เน้นแก้ปัญหาอะไรมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.6 ต้องการให้เน้นแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจภาพใหญ่ รองลงมาร้อยละ 20.0 ด้านเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย ตามมาด้วยร้อยละ 16.6 ด้านการศึกษา ร้อยละ 13.2 ด้านปัญหาอาชญากรรม/ยาเสพติด ร้อยละ 8.1 ตำรวจ/ผู้ใช้กฎหมาย ร้อยละ 7.4 ระบบราชการ ร้อยละ 5.0 สาธารณสุข ร้อยละ 3.2 ความปรองดอง และ อื่นๆ ร้อยละ 0.9

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วยเพศหญิงร้อยละ 53.6 เพศชายร้อยละ 47.4 อายุระหว่าง 18-20 ปี ร้อยละ 23.8 อายุระหว่าง 21-25 ปี ร้อยละ 42.9 และอายุระหว่าง 26-29 ปี ร้อยละ 33.3 โดยมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาลร้อยละ 55.0 และอยู่ในเขต อบต. ร้อยละ 45.0ทั้งนี้เป็นผู้กำลังทำงานหรือหางาน ร้อยละ 56.5 รองลงมากำลังเรียนระดับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 31.1 กำลังเรียนระดับอาชีวะ/เทคนิค ร้อยละ 6.4 กำลังเรียนระดับมัธยมปลาย ร้อยละ 4.2 และกำลังเรียนหลักสูตรอื่นๆ ร้อยละ 1.6

หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้วความคิดเห็นอื่นๆในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสานคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายชื่อคณะผู้วิจัย

ศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน

ผศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพการวิจัย

ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล

เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผล

นางสาวศิริพรรณ ยศปัญญา

นางสาวสุขุมาภรณ์ นิธีธราดล

นางสาวกนกวรรณ พรจันทร์

นางสาวกฤษฎาภรณ์ มาซา

นางสาวเจนจิรา รดดี

พิศไพลิน อัศวภูมิ

ชลิตา เสนสิทธิ์

นภัทร บุญญอมรศรี

พลอยไพลิน ทือเกาะ

เศรษฐพงศ์ นิสชำนาญ

สุดาพร งิ้วลาย

สุปรีญา ธาตุวิสัย