ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดสัมมนา "ภาษาไทย ไทยแลนด์ 4.0" ภายใต้แนวคิดของ อ.ชนางลักษณ์ ขุนทอง ผู้สอนรายวิชาการจัดสัมมนาการใช้ภาษาไทย และที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งต้องการสะท้อนให้นักศึกษาเห็นถึงการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน ที่สังคมไทยต้องเท่าทันเทคโนโลยี และเข้าใจธรรมชาติของภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของภาษาไทยที่ถูกต้องท่ามกลางกระแสโลกโซเชียล ด้วยการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะ เพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยสืบไป
ด้าน อ.ชนางลักษณ์ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นวิธีหนึ่งในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงพลังและศักยภาพที่มีอยู่ โดยการจัดสัมมนาขึ้นด้วยตัวเอง เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจในการจัดสัมมนาทางภาษาไทย และเรียนรู้การประสานงานกับบุคคลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนการทำงานร่วมกันของแต่ละฝ่าย ทำให้กิจกรรมดำเนินไปได้ด้วยดี ซึ่งนักศึกษาสามารถดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ และเป็นไปตามความมุ่งหมายของหัวใจในการจัดกิจกรรม คือได้ศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์ปรากฏการณ์การใช้ภาษาไทยของคนในสังคมปัจจุบันว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
น.ส.สุนทรียา ลาสสวัสดิ์ นักศึกษาโปรแกรมภาษาไทย หนึ่งในคณะผู้จัดสัมมนา กล่าวว่า ก่อนขึ้นเวทีสัมมนาตนและเพื่อนๆ ใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาตัวภาษาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งบนโลกออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ตามความสนใจของแต่ละกลุ่มที่มีสมาชิกประมาณ 4-6 คน อาทิ ศึกษาภาษาในเพจFacebook การใช้ภาษาของคนดังในโซเชียล อักษรย่อในหนังสือพิมพ์ ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการนี้ได้ต่างล้มลุกคลุกคลาน แต่สิ่งสำคัญคือพวกตนไม่เคยหยุดคิดและพัฒนาให้ดีขึ้นทุกครั้งหลังได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ตนมองว่าการใช้ภาษาถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง แม้ยุคปัจจุบันนี้ภาษาที่ใช้จะมีความทันสมัย แต่ต้องสามารถสื่อความหมายได้ไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งจากการทำงานครั้งนี้ยิ่งทำให้เห็นถึงอิทธิพลของภาษาที่มีต่อความคิดและความเชื่อของคนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
"สิ่งที่ได้จากการไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อนำมาอภิปรายสัมมนา ทำให้เห็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของภาษา ที่เป็นเหตุทำให้การสื่อสารในยุคปัจจุบันเกิดความคลาดเคลื่อนเข้าใจผิด กลายเป็นปัญหาลุกลามอย่างที่เรามักเห็นในสื่อต่างๆ และตัวภาษาที่มีความสร้างสรรค์ทำให้คนอ่านหรือคนฟังได้รับกำลังใจ เป็นพลังแห่งการเริ่มต้นใหม่ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ จนทำให้นึกถึงคำถามของ อ.ชนางลักษณ์ ที่ว่า ภาษาเปลี่ยนคน หรือคนเปลี่ยนภาษา" น.ส.สุนทรียา กล่าว
ขณะที่ น.ส.สุวิชา จันทร์หอม นักศึกษาโปรแกรมภาษาไทยอีกคนหนึ่งซึ่งรับหน้าที่ฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ตนทำหน้าที่คิดชื่อหัวข้ออภิปราย ซึ่งได้มาจากการแยกกลุ่มหัวข้อจากการศึกษาจำนวน 2 ชื่อ คือ "ภาษาไทยในสื่อโซเชียล" และ "การใช้ภาษาของบุคคลมีชื่อเสียงบนสื่อออนไลน์และภาษาที่ใช้ในสื่อสารมวลชน" ส่งให้ฝ่ายประสานงาน / เขียนโครงการ จากนั้นก็ทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในกลุ่มนักศึกษา ศศ.บ.ภาษาไทย เพจประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา และประกาศเสียงตามสาย ความสุขที่ได้จากการทำงานคือการที่มีคนเห็นหรือได้ยินประกาศนี้ออกไป แม้ว่าพวกเขาบางคนอาจจะไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการ แต่นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ตัวเองได้ทำงานด้วยความตั้งใจและจริงใจที่สุด
ปิดท้ายด้วย น.ส.สรนันท์ อินทอง ฝ่ายประสานวิทยากร กล่าวว่า ตนได้ติดต่อ นายเอกมาศ สงสว่าง นักจัดรายการประจำสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา มรภ.สงขลา FM.105.75 MHz. และเป็นนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แม้โลกจะเปลี่ยนไปทำให้ภาษาเปลี่ยนตาม แต่ตัวภาษาที่ใช้ควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ตั้งต่อตัวเราเอง ครอบครัว และสถาบันการศึกษาด้วย