เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หมอชิต (จตุจักร) เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แถลงข่าวประกาศความร่วมมือครั้งแรกของประเทศไทย ในการยกระดับรถทัวร์ไทยให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศภายใต้ ชื่องาน "บขส. มอบของขวัญปีใหม่
ยกขบวนชวนพนักงานเผือก เพื่อรถทัวร์ปลอดภัยไร้การคุกคามทางเพศ" พร้อมเปิดตัว "ทีมพนักงานเผือก" จากพนักงาน บขส. ที่ผ่านการอบรมการสอดส่องป้องกันและแก้ไขปัญหาเมื่อมีผู้โดยสารถูกคุกคามทางเพศ
นางสาวรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง จากองค์กร แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กล่าวในเวทีเสวนาเรื่องความร่วมมือระหว่าง บขส. กับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เพื่อแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารของ บขส. อย่างเป็นรูปธรรม ว่า ในหนึ่งวันมีผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะของ บขส. ถึง 8-9 หมื่นคน ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่มีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก จึงเห็นว่าเป็นช่องทางที่ดีที่จะร่วมมือกับ บขส. ในการให้ความรู้กับทั้งผู้โดยสาร และพนักงานของ บขส. เพื่อรับมือหากตกเป็นผู้ถูกคุกคาม หรือเห็นผู้อื่นถูกคุกคาม เพื่อที่จะช่วยเหลือด้วยการเข้าไป "เผือก" หรือเข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดการคุกคามได้ เพราะจากการศึกษาพบว่ามีผู้หญิงหลายคนตกเป็นเป้าการถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่กล้าตอบโต้ ดังนั้น คนที่อยู่รอบข้างจึงเป็นคนอีกกลุ่มที่สามารถยุติการคุกคามทางเพศได้ โดยเฉพาะในรถโดยสารสาธารณะ พนักงานผู้ให้บริการบนรถจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ และหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร
นางสาวรุ่งทิพย์กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากได้เข้าพบกับนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยได้เสนอแนะมาตรการลดการคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ 3 แนวทาง คือ จัดอบรมพนักงาน ติดกล้องวงจรปิดภายในรถ และพัฒนาระบบการแจ้งเหตุถ้ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บขส. โดยเมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ได้จัดอบรมพนักงานขับรถและพนักงานต้อนรับของ บขส. เพื่อให้ตระหนักถึงรูปแบบการคุกคามทางเพศ และแนวทางการแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสาร โดยที่ตัวเองก็ปลอดภัย นอกจากนี้ ทางเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ยังได้จัดทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์วิธีรับมือสถานการณ์สำหรับผู้ที่ตกเป็นเป้าการคุกคามทางเพศ ซึ่ง บขส. จะนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ บขส. ทั้งในรถโดยสาร และสถานีขนส่งต่างๆ
"เมื่อปีที่ผ่านมา จำนวนตัวเลขของคนที่คุกคามทางเพศค่อนข้างสูง โดยจากการสำรวจพบว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะเคยถูกคุกคามทางเพศ ดังนั้น ในโอกาสที่ใกล้จะถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีประชาชนเดินทางกลับบ้าน หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัดโดยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก ทำให้ความร่วมมือครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก เชื่อว่าผู้โดยสารจะเดินทางด้วยความอุ่นใจมากขึ้น เพราะพนักงานบริการบนรถ มีองค์ความรู้ทั้งในเชิงการประเมินสถานการณ์ การเข้าแทรกแซง รวมทั้งนำตัวผู้ที่คุกคามส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป หากผู้โดยสารที่ถูกคุกคามต้องการเอาเรื่องทางกฎหมาย" น.ส. รุ่งทิพย์กล่าว
ตัวแทนจากเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงยังได้กล่าวถึงรายละเอียดของคู่มือที่เครือข่ายฯ ได้จัดทำเป็นต้นแบบและใช้เป็นครั้งแรกกับการฝึกอบมให้กับพนักงานของ บขส. โดยระบุว่า สำหรับเนื้อหาในคู่มือเผือกนั้น ระบุถึงพฤติกรรมการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะที่พบบ่อยครั้ง คือ 1. การสัมผัส ถูไถ 2. การเบียดชิด ถูกเนื้อต้องตัว 3. การพูดแซว เกี้ยวพาราสี 4. การเปิดคลิปโป๊ให้ผู้โดยสารอื่นเห็น ซึ่งหากพนักงานขนสาธารณะพบเจอเหตุการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศ อันดับแรกจะต้องประเมินสถานการณ์ก่อน และสามารถใช้วิธีการแทรกแซงแบบต่าง ๆ เช่น "การเบี่ยงเบนความสนใจ" หากสังเกตเห็นความผิดปกติ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่ ให้ทำทีเข้าไปชวนผู้ถูกคุกคามพูดคุยเรื่องทั่วไป โดยพูดด้วยเสียงดังฟังชัด เช่น ถามว่าจะลงที่ไหน มีที่นั่งว่างด้านหน้านั่งสบายกว่าอยากย้ายไปไหม หรือทำทีเข้าไปขอตรวจตั๋วทั้งผู้คุกคามและผู้ที่ถูกคุกคาม แล้วชวนผู้ถูกคุกคามพูดคุย รวมถึงแกล้งทำของหล่นตรงจุดที่คู่กรณีนั่งหรือยืนอยู่ เมื่อเข้าไปเก็บของให้ชวนผู้ที่ถูกคุกคามพูดคุย แต่ในกรณีที่เห็นชัดเจนหรือแน่ใจแล้วว่ากำลังเกิดเหตุคุกคามทางเพศ และประเมินแล้วว่าผู้ที่คุกคามไม่มีท่าทีเป็นอันตราย ให้ "บอกผู้คุกคามให้หยุดการกระทำ" โดย เข้าไปหาผู้ที่กำลังคุกคาม มองหน้า และบอกให้หยุดการกระทำ เช่นพูดว่า "คุณอย่านั่งเบียดน้องเขา ขยับออกมาห่าง ๆ อย่าไปเบียดเขา" หรือ "คุณทำอะไรน่ะ หยุดเดี๋ยวนี้เลยนะ" โดยต้องพูดให้เสียงดังฟังชัด และน้ำเสียงมั่นคง เมื่อพูดกับผู้กระทำแล้ว ให้หันไปถามผู้ที่ถูกคุกคามว่าเขาโอเคไหม อยากย้ายที่นั่งหรือไม่
นางสาวรุ่งทิพย์ยังกล่าวถึงรายละเอียดในคู่มือต่อว่า วิธีการต่อไปพนักงานสามารถ "แจ้งตำรวจ" หรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ประเมินแล้วว่าการเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดเหตุการณ์ด้วยตนเองอาจเป็นอันตราย เช่น ผู้คุกคามมาด้วยกันหลายคนและมีท่าทีก้าวร้าว มีอาวุธ หรือมึนเมาอาละวาด โดยให้พนักงานขับรถจอดรถที่ป้อมตำรวจจราจร ด่านตำรวจ หรือขับรถไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาระงับเหตุ หรือโทรแจ้ง 191 ให้ส่งตำรวจพื้นที่มาระงับเหตุ โดยระบุทะเบียนรถ เส้นทาง หรือจุดที่จะให้เข้าช่วยเหลือให้ชัดเจน หรือโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย หรือสถานีวิทยุจราจรต่าง ๆ ที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้ พนักงานและผู้โดยสารรอบข้างยังสามารถช่วย"บันทึกหลักฐาน" ในกรณีที่มีพนักงานหรือผู้โดยสารอื่นเข้าไปช่วยแทรกแซงเพื่อหยุดเหตุคุกคามแล้ว โดยใช้มือถือถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน โดยพยายามถ่ายให้เห็นสภาพแวดล้อมของจุดเกิดเหตุ พร้อมทั้งระบุวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้
ตัวแทนจากเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงกล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงได้ตั้งเป้าว่าจะขยายความร่วมมือรูปแบบนี้ ไปยังหน่วยงานขนส่งสาธารณะหรือหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งภายใต้กระทรวงคมนาคม เช่น กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก เพราะภัยคุกคามในระบบขนส่งสาธารณะยังเป็นปัญหาที่พบมาก และเป้าหมายของงานที่เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ทำ คือ ขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงหมดให้ไป แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับคนในสังคม ว่าจะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้มากน้อยเพียงใด
ด้านนางสาววราภรณ์ แช่มสนิท จากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ อีกหนึ่งตัวแทนจากเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการจัดอบรมพนักงาน บขส. แล้ว เครือข่ายฯ ยังจัดทำเว็บไซต์ E-learning ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พนักงาน บขส. จะสามารถเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับแนวทางการ "เผือก" หรือเข้าแทรกแซงเมื่อพบเจอเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ เพราะพนักงานของ บขส. มีจำนวนมาก และมีพนักงานเข้าออกในตำแหน่งงานต่าง ๆ อยู่ตลอด การจัดฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมพนักงานทั้งหมด ขณะเดียวกัน บริการขนส่งสาธารณประเภทอื่นก็มีปัญหาการคุกคามทางเพศไม่น้อยไปกว่า บขส. การมีช่องทาง E-learning จึงเปิดโอกาสให้พนักงานของหน่วยงานขนส่งสาธารณะอื่นสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยตนเองได้ด้วย
"ผู้สนใจสามารถเข้าชมสื่อการเรียนรู้ของเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.teampueak.org โดยคลิกเลือก "คู่มือเผือก" ซึ่งจะมีการอธิบายรูปแบบการคุกคามทางเพศที่พบบ่อยบนระบบขนส่งสาธารณะ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น แนวทางการเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคาม และแหล่งช่วยเหลือที่เป็นตัวช่วยสำหรับพนักงานในการระงับเหตุ นอกจากนี้ ยังมีแบบทดสอบให้ทดลองทำ ด้วยตัวเอง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะของพนักงานในการรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศด้วย" น.ส. วราภรณ์ กล่าว
ขณะที่นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ในเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ บขส. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได่ร่วมมือกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ในการออกมาตรการและวิธีการที่หลากหลายและเป็นรูปธรรมแพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นบนรถในระบบของ บขส. เอง โดยมาตรการเหล่านี้ถือเป็นของขวัญจาก บขส. ที่มอบให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งพนักงานชุดแรกเข้ารับการอบรมแนวทางการรับมือและให้การช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคามทางเพศอย่างได้ผล การฉายวิดีโอประชาสัมพันธ์บนรถโดยสารของ บขส. ทุกคัน เพื่อให้ผู้โดยสารตระหนักและรับรู้แนวทางการรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศตลอดจนแหล่งให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสารจำนวน 480 คัน และรถร่วมของบริษัทเอกชนที่อยู่ในความดูแลของ บขส. อีกกว่า 4,000 คัน และมีเจ้าหน้าที่รวม 2,800 คน โดยตนตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปีหน้า พนักงานและรถในระบบของ บขส. จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ทั้งหมด
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ในเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ บขส. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ในการออกมาตรการและวิธีการที่หลากหลายและเป็นรูปธรรมแพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นบนรถในระบบของ บขส. เอง โดยมาตรการเหล่านี้ถือเป็นของขวัญจาก บขส. ที่มอบให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งพนักงานชุดแรกเข้ารับการอบรมแนวทางการรับมือและให้การช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคามทางเพศอย่างได้ผล การฉายวิดีโอประชาสัมพันธ์บนรถโดยสารของ บขส. ทุกคัน เพื่อให้ผู้โดยสารตระหนักและรับรู้แนวทางการรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศตลอดจนแหล่งให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสารจำนวน 480 คัน และรถร่วมของบริษัทเอกชนที่อยู่ในความดูแลของ บขส. อีกกว่า 4,000 คัน และมีเจ้าหน้าที่รวม 2,800 คน โดยตนตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปีหน้า พนักงานและรถในระบบของ บขส. จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ทั้งหมด
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า พื้นที่ให้บริการของ บขส. ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ สถานีขนส่งซึ่งเป็นที่พักรอรถของผู้โดยสาร ซึ่งโอกาสที่จะเกิดการคุกคามทางเพศอาจมีน้อยกว่า เพราะเรามี CCTV ครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่สถานี และมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลา ที่ผ่านมา บขส. จึงยังไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่สถานีขนส่ง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ให้บริการอีกส่วนหนึ่งคือบนรถโดยสาร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุคุกคามทางเพศได้ใน 3 กรณี คือ การคุกคามทางเพศระหว่างพนักงานด้วยกันเอง การที่พนักงานบริการถูกผู้โดยสารลวนลาม และผู้โดยสารถูกลวนลามจากผู้โดยสารด้วยกันเอง
นายจิรศักดิ์ กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาในส่วนของพนักงาน บขส. ที่ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่อเพื่อนพนักงาน จะมี 2 ขั้นตอน คือ ถูกร้องเรียนครั้งแรก จะถูกตักเตือนและภาคทัณฑ์ ถูกร้องเรียนครั้งที่ 2 จะถูกไล่ออกสถานเดียว โดย 3-4 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 1 กรณีเท่านั้นที่ถูกไล่ออก ซึ่ง บขส. ได้ย้ำกับพนักงานผู้หญิงว่า หากประสบเหตุสามารถร้องเรียนได้ตลอดเวลา ส่วนกรณีการคุกคามทางเพศระหว่างผู้โดยสารกับผู้โดยสารนั้น บขส. ได้จัดให้มี Save Zone โดยพยายามจัดให้ผู้โดยสารหญิงนั่งคู่กับผู้หญิง เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารผู้หญิงอาจถูกผู้โดยสารชายลวนลาม ทำให้ที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้รับเรื่องร้องเรียนเช่นกัน
ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงแล้ว ทาง บขส. เอง ก็กำลังเดินหน้าออกมาตรการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารใน 3 ด้าน คือ 1. การป้องปราม โดยอยู่ระหว่างการเสนอขอติดตั้งกล้อง CCTV ทั้งภายในรถและหน้ารถเพื่อให้สามารถใช้ดูหลักฐานย้อนหลังหากเกิดเหตุการณ์ 2. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมในการรับมือ และมีเทคนิควิธีการในการดูแลผู้โดยสารและดูแลตนเอง หากเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ และ 3. พัฒนาช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้มีความสะดวกมากขึ้น จากเดิมสามารถร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของ บขส. "transport.co.th" และฮอตไลน์ 1490 โดยจะเพิ่มช่องทางร้องเรียนผ่านคิวอาร์โค้ด โดยจะจัดทำและติดคิวอาร์โค้ดบนรถทุกคัน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดและส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้ง่าย
นายจิรศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายของ บขส. ต้องการยกระดับคุณภาพการให้บริการให้ได้มาตรฐาน และยืนยันว่าบขส. ใส่ใจประชาชน จึงพยายามพัฒนาปรับปรุงคุณภาพบริการมาโดยตลอด แต่เรื่องของการคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่แอบแฝงอยู่ คนที่ถูกคุกคามมักไม่กล้าพูด ทำให้คนที่ก่อเหตุย่ามใจ วันนี้เราต้องรักษาสิทธิของเรา ทั้งพนักงานและผู้โดยสารต้องตระหนักว่าใครจะมาคุกคามเราไม่ได้ เราต้องมีวิธีตอบโต้ ขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุ
"ในส่วนของพนักงาน หากถูกคุกคามทางเพศก็อาจจะตอบโต้ไม่ได้มากเหมือนผู้โดยสาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพนักงานต้องยอม ถ้าคุณทำคุณโดนแน่ พนักงานต้อนรับหากถูกคุกคามก็สามารถแจ้งพนักงานขับรถหรือแจ้งนายสถานีได้ เราอยากให้ผู้คุกคามรู้ว่าเขาไม่มีสิทธิทำแบบนี้ โดยจากนี้ บขส. จะนำคลิปของเครือข่ายมาเปิดบนรถโดยสารและในสถานี เพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่าถ้าเผชิญกับการคุกคามทางเพศควรทำอย่างไร และสามารถขอความช่วยเหลือได้จากใคร ทั้งนี้ ถ้านั่งแล้วถูกคุกคาม ก็สามารถขอสลับที่นั่งได้ หรือหากมีการถูกเนื้อต้องตัว ก็สามารถแจ้งพนักงานบริการได้ โดยให้พูดเสียงดัง ๆ เพื่อประกาศให้คนในรถได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือถ้าเหตุการณ์มีความรุนแรง ก็สามารถแจ้งพนักงานขับรถหรือแจ้งนายสถานีที่ใกล้ที่สุดให้ขึ้นมาดูแลได้" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าว
ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้แทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง และ บขส. กล่าวว่า การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นบ่อยบนระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นความรุนแรงทางเพศรูปแบบหนึ่ง ทำให้สังคมไม่ปลอดภัย และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนในสังคม จึงเป็นภารกิจของ สสส. ที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่จะช่วยลดปัญหาการคุกคามทางเพศ และตนเองเห็นว่าโครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างกระแสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศไม่เฉพาะบนระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่รวมถึงทุก ๆ พื้นที่ในสังคมด้วย
การจัดงานในวันนี้มีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การฉายภาพยนตร์สั้นรณรงค์ให้ผู้โดยสารตระหนักและรับรู้แนวทางการรับมือปัญหาการคุกคามทางเพศ ที่จะนำไปเผยแพร่บนรถโดยสารของ บขส. ทุกคันทั่วประเทศ การสาธิตวิธีการใช้เว็บไซต์ E-learning ที่จะช่วยให้พนักงานขนส่งสาธารณะสามารถเรียนรู้แนวทางการช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคาม และการขึ้นรถโดยสารของ บขส. เพื่อชมการสาธิต "วิธีเผือก" ของพนักงาน โดยตัวแทนพนักงาน บขส. ที่ผ่านการอบรมจากเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit