กอปภ.ก. สั่งการ 8 จังหวัดภาคใต้ รับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสม ช่วงวันที่ 21 – 22 พ.ย.61

22 Nov 2018
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สั่งการ 8 จังหวัด ได้แก่ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรังเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในช่วงวันที่ 21 – 22 พ.ย.61 เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ และข้อมูลสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน "โทราจี" และมรสุมออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้เกิดฝนตกหนัก กอปรกับกรมทรัพยากรธรณี ได้ประกาศให้เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2561 กอปภ.ก จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดเสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชม. ในช่วงวันที่ 21 – 22 พ.ย.61 บริเวณพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฏร์ธานี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอพนม และอำเภอกาญจนดิษฐ์ นครศรีธรรมราช 8 อำเภอ ได้แก่ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพรมคีรี อำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม อำเภอลานสกา อำเภอพิปูน อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝนระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมฝั่งแม่น้ำ และที่ลาดเชิงเขา อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป