ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการจัดอบรมค่ายวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 โรงเรียนนราธิวาส จำนวน 57 คน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป้าหมายเพื่อพัฒนานักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความเป็นเลิศและผลสัมฤทธิ์ที่ดีในการเรียนวิชาดังกล่าว โดยการเข้ารับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติทดลองใช้เครื่องมือต่างๆ นอกเหนือจากที่เคยพบเจอในห้องเรียน นอกจากนั้น ยังเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับบริการวิชาการ วิจัย การเรียนการสอนแก่สถาบันการศึกษาต่างๆ และชุมชน เนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากยุทธศาสตร์ของประเทศที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อนศักยภาพการแข่งขันกับนานาประเทศ
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า การจัดการศึกษาทุกระดับมีรายวิชาวิทยาศาสตร์อยู่ในหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษา มีการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด ประกอบกับแนวทางการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด โดยในกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้สามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ แนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนจึงจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนฝึกทักษะกระบวนการคิดและการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้รูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ฝึกอบรมทักษะหรือเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเรียนสามรถนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปวิเคราะห์หาเหตุผลได้อย่างเป็นระบบ
ด้าน ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดอบรมค่ายวิทยาศาสตร์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน (เด็กทั่วไป เด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กที่มีความพร้อมสูง และเด็กเป้าหมายพิเศษ) อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่และทุกระดับการศึกษา เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และเพื่อให้มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการสร้างโอกาส คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคม โดยใช้ 4 กลยุทธ์ คือ 1. ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการศึกษาที่มีคุณภาพ เสมอภาค และยุติธรรม 2. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกระดับ ทุกกลุ่ม และทุกประเภท 3. พัฒนาระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 4. พัฒนาระบบการสนับสนุนการจัดการศึกษา