นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรก้าวสู่การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอและตรงความต้องการของตลาดในภาคอุตสาหกรรม จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับสภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้น เพื่อร่วมมือกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากภาคเกษตรกรรม รวมทั้งมีแผนที่จะร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการด้านการเกษตรสมัยใหม่ (Smart Agri Entrepreneur) ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภาคเกษตรควบคู่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรแบบครบวงจร ทั้งด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร คุณภาพมาตรฐานและการตลาด โดยมอบหมายให้สถาบัน-อุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร จัดทำโครงการยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้า และการผลิตทางด้านการเกษตรต่างๆ ให้เข้าถึงอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรมากขึ้น
ด้านนายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร มีเป้าหมายในการยกระดับการพัฒนากระบวนการผลิต และคุณภาพสินค้าทางการเกษตร ส่งเสริมเชื่อมโยง Supply ผลผลิตการเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การแปรรูป ตลอดจนการเชื่อมโยงธุรกิจการค้า ผ่านเครือข่ายสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และหน่วยร่วมพันธมิตร ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ค้าในประเทศและผู้ส่งออก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มีการหมุนเวียนจากการรับซื้อผลผลิต เกิดการผลิต การลงทุน การจ้างงาน การขนส่ง และบริการ ช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัว โดยปัจจุบันสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร มีงานให้บริการ ประกอบด้วย การรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC), การบริการสนับสนุนเชื่อมโยงภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อ-การเกษตร และการให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนาภาคการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming)
"การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นมิติครั้งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปทางการเกษตร ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด และเป็นการร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงาน เพื่อบริหารจัดการให้ผลิตผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สร้างความสมดุลและเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าเกษตร ช่วยยกระดับพัฒนาความรู้เกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่าย ด้วยการผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ สู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพ" นายศักดิ์ชัย กล่าว
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยมักประสบปัญหาหลักด้านการตลาด ไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่สามารถต่อรองราคาได้ ทำให้เกิดปัญหาด้านหนี้สินตามมา ดั้งนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการตลาด เป็นการพัฒนาภาคเกษตรให้ผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อการส่งออก และพัฒนาผลผลิตไปสู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยี มาบริหารจัดการผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด นับเป็นความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit