กรมที่ดินชี้แจงกรณี เครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร วิจารณ์การแก้ไขปัญหาที่ดินของภาครัฐ

19 Nov 2018
นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่ของกรมที่ดิน กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวเครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร วิจารณ์การแก้ไขปัญหาที่ดินของภาครัฐ ในการจัดกิจกรรมมหกรรมโฉนดชุมชน "ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดิน" ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามประเด็นปัญหา ดังนี้
กรมที่ดินชี้แจงกรณี เครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร วิจารณ์การแก้ไขปัญหาที่ดินของภาครัฐ

ประเด็น การแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ไม่ตอบโจทย์ปัญหาสิทธิในที่ดินนั้น ขอเรียนว่า

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในประเทศไทยที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานมีรากฐานสำคัญประการหนึ่ง คือ การที่ที่ดินในการถือครองของราษฎรจำนวนมากหลุดสู่มือของกลุ่มทุน อันก่อให้เกิดปัญหาอื่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การขาดที่ดินทำกิน ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาล (พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) จึงได้ดำริแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยกำหนดนโยบายการนำที่ดินของรัฐ เช่น ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินป่าชายเลน ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ราชพัสดุ ที่ดินนิคมเพื่อการเกษตร และที่ดินในเขต สปก. มาจัดให้แก่ราษฎรที่ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีที่อยู่อาศัย เพื่อใช้เป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในรูปแบบแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ เพื่อป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือสู่กลุ่มทุนอย่างเช่นที่ผ่านมาในอดีต และเป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมอันเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ประเด็น ปัญหาการจัดการที่ดินในพื้นที่โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการไม่สอดคล้องสิทธิการใช้ประโยชน์ของชุมชนนั้น ขอเรียนว่า

การจัดการและใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ทั้งในกระบวนการจัดหาที่ดิน กระบวนการจัดที่ดิน และกระบวนการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ มีรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะประชารัฐ โดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการวางแนวทางนโยบายในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อันมีคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ เป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนให้การดำเนินการเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ประชาชนและภาครัฐได้ร่วมกันกำหนดแนวทางไว้ดังกล่าวข้างต้น

ประเด็นปัญหาการจัดการที่ดินตามนโยบาย คทช. ทำให้ชุมชนไม่อาจจัดการพัฒนาที่ดินได้อย่างยั่งยืนนั้น ขอเรียนว่า

การดำเนินงานของ คทช. ภายหลังกระบวนการจัดที่ดินให้แก่ชุมชนแล้ว ได้กำหนดให้มีกระบวนการส่งเสริม และพัฒนาอาชีพให้แก่ชุมชน เพื่อความยั่งยืนโดยมีกระบวนการด้านการพัฒนาที่ดิน ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ และปัจจัยพื้นฐานปัจจัยพื้นฐาน ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ด้านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ด้านการส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือน ทั้งนี้ตามความต้องการของชุมชน ซึ่งดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์ชุมชนนั้นเอง