สมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนประเพณีนานาชาติ "บีดีเอ็มเอส กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 31" (BDMS Bangkok Marathon 2018) ภายใต้แนวคิด Running is Medicine กีฬาคือยาวิเศษ ชัยชนะของสุขภาพและทุกเป้าหมายชีวิต โดยมี พลโทสัมพันธ์ ยังพะกูล นายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน บีดีเอ็มเอสกรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 31 นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ประธานในพิธี และนาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทร พิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ พร้อมด้วยตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมงาน โดยการแข่งขันครั้งนี้เปิดโอกาสให้นักวิ่งทั้งมือสมัครเล่น รวมถึงนักกีฬาจากทั่วโลกลงแข่งขัน ในระยะการแข่งขันมาราธอน (42.195 กม.) ฮาล์ฟมาราธอน (21.100 กม.) มินิมาราธอน (10.550 กม.) และไมโครมาราธอน เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ (5 กม.) ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2561 จุดเริ่มต้น-สิ้นสุด ณ บริเวณถนนสนามไชย (ข้างพระบรมมหาราชวัง)
พลโทสัมพันธ์ ยังพะกูล นายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน บีดีเอ็มเอสกรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 31 กล่าวว่า การจัดงานแข่งขันวิ่งมาราธอนประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มมานับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้กำหนดวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันจัดงานในทุกรอบปี มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ตอบรับกระแสการตื่นตัวของการออกกำลังกาย และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ทั้งยังจัดขึ้นเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 66 พรรษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 สำหรับการจัดงาน BDMS Bangkok Marathon ครั้งที่ 31 ในปีนี้ ถือเป็นการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ของการจัดการแข่งขัน ทางสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ยังคงมุ่งหวังในการใช้สถานที่เดิมเป็นสถานที่จัดงาน เพื่อรักษาการจัดงานที่เป็นเอกลักษณ์มายาวนาน อันเป็นตำนานของการจัดการแข่งขันวิ่ง Bangkok Marathon ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะของเส้นทางการวิ่งนั้นถือเป็นสถานที่และเส้นทางในการวิ่งที่สวยงาม มีสถานที่สำคัญเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอยู่บนถนนสนามไชย ด้านหน้าพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วหรือหน้ากระทรวงกลาโหม และเป็นทัวร์นาเม้นต์ที่น่าสนใจของนักวิ่งนานาชาติกว่า 62 ประเทศทั่วโลก โดยมีนักวิ่งเข้าร่วมประมาณ 25,000 คน ในบริเวณดังกล่าวจัดได้ว่าเป็นบริเวณจัดงานที่มีสถานที่แวดล้อมที่ สง่างามที่สุด โดยเฉพาะเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์การแข่งขันกรีฑานักเรียนและประชาชนเป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2440(รศ.116) หรือเป็นเวลา 121 ปีมาแล้ว โดยรายได้ส่วนหนึ่งของการจัดงาน BDMS Bangkok Marathon 2018 ครั้งนี้ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสบทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา
นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่า การจัดงาน "บีดีเอ็มเอสกรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 31" BDMS สนับสนุนให้ทุกคนวิ่งเพื่อสุขภาพ เพราะกีฬาคือยาวิเศษ ที่จะสร้างสุขภาพที่ดีร่างกายแข็งแรง ดังแนวคิด Running is medicine กีฬาคือยาวิเศษ ชัยชนะของสุขภาพและทุกเป้าหมายชีวิต ถือได้ว่าทุกการออกกำลังกายไม่ว่าจะชนิดกีฬาใด ล้วนเป็นยาทั้งสิ้น ทั้งในด้านป้องกันโรคและรักษาโรค เพราะการออกกำลังกายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพดีอย่างยืนยาว เหมือนการวิ่ง เป็นกีฬาที่ทุกคนสามารถทำได้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกเพศทุกวัย สามารถวิ่งออกกำลังกายให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงาน บริหารหัวใจและปอดให้เลือดลมสูบฉีด ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สร้างความสมส่วนให้กับร่างกายและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสมบูรณ์ ในปีนี้ BDMS ได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านการรักษาพยาบาล Medical Support Team ที่มีแพทย์ พยาบาล รถพยาบาลสแตนด์บายกระจายกว่า 15 จุด จากโรงพยาบาลในเครือข่ายของบีดีเอ็มเอส รพ.ภาคเอกชนและภาครัฐ พร้อมเตรียมทีมอาสาสมัครนักวิ่ง เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หรือ BDMS Medical Team จำนวน 500 คน คอยประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้เข้าร่วมแข่งขันและผู้ร่วมงานในระหว่างการแข่งขัน และทีมจักรยานกู้ชีพ AED Bike Thailand จำนวน 17 ทีม ที่ตรวจตราดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมแข่งขันตลอดเส้นทาง เจ้าหน้าที่วิทยุอาสากว่า 200 คน ซึ่งผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คอยประสานงานกับทีมแพทย์และพยาบาลตลอดเส้นทางการวิ่ง ก่อนเริ่มการแข่งขันครั้งนี้ ทาง BDMS ได้จัดให้มีการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนในการเข้าช่วยเหลือกู้ชีพพื้นฐานโดยการกดหน้าอก Cardiopulmonary resuscitation หรือ CPR ควบคู่ไปกับการใช้เครื่อง กระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าหรือ AED(Automated External Defibrillator)ในที่สาธารณะ หากเกิดภาวะฉุกเฉินสำหรับการวิ่งมาราธอน สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติที่สงสัยว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นจะต้องได้รับการกู้ชีพพื้นฐานก่อนที่บุคลากรการแพทย์จะมาถึง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดยการกู้ชีพนั้นทุกคนสามารถทำได้ด้วยการกดหน้าอกอย่างต่อเนื่อง 100-120 ครั้งต่อนาที ลึก 5-6 เซ็นติเมตร นาน 2 นาที สลับกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า(AED) แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่ใกล้ที่สุด ซึ่งการใช้เครื่อง AED ภายในช่วงไม่กี่นาทีแรกหลังเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนั้น จะช่วยให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมีมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังได้เตรียมข้อมูลด้านการวิ่ง ความรู้สุขภาพ กระจายผ่านสื่อ เฟสบุค เพจ The Running Experts เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาออกกำลังกายและเตรียมความพร้อมสำหรับการวิ่งอีกด้วย
นพ.ไพศาล กล่าวเสริมว่า ทุกคนควรยึดหลัก 10 อ. ไว้เพื่อช่วยให้เรามีสุขภาพกายแล สุขภาพใจที่แข็งแรง เริ่มที่ 1. ไม่อ้วน ดูแลหุ่น ร่างกายให้ดี 2. อาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ 3. ออกกำลังกาย ควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 4. สารอันตราย ควรหลีกเลี่ยงสารอันตราย อาทิ บุหรี่ควันพิษ ยาเสพย์ติด 5.เลี่ยงกิจกรรมอันตราย เช่น อุบัติเหตุ พยายามลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นรวมไปถึงหาแนวทางป้องกัน 6. อดนอน การนอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของร่างกาย เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเป็นการพักผ่อน ซึ่งควรนอนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะหากคุณอดนอนแล้ว ร่างกายจะเพลีย ไม่สดชื่น มีผลกระทบกับเวลาทำงาน 7. เช็คอัพ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 8. อารมณ์ ควรทำให้อารมณ์ดี สุขภาพจิตดีอยู่เสมอ เพราะในปัจจุบัน คนทั่วไปมีความเครียดสะสม ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายตามมา 9. ติดอาวุธให้ร่างกาย อาวุธในที่นี้ หมายถึง การเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย อาทิ การฉีดวัคซีน ทานวิตามิน เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และสุดท้าย 10. จิตอาสา เมื่อมีสุขภาพกายและใจที่ดีแล้ว เราควรเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมอาสา เพื่อส่งเสริมทั้งสุขภาพของเราและพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับการแข่งขัน BDMS Bangkok Marathon 2018 ในครั้งนี้
นักวิ่งที่คว้าแชมป์มาราธอนประเภทโอเวอร์ออลชายได้แก่ เวนวีเซน ทีลาฮัน นักวิ่งปอดเหล็กชาวเอธิโอเปีย ด้วยเวลา 2ชั่วโมง 26 นาที 39 วินาที รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วนฝ่ายหญิงเป็น จูเลีย เอ็นจารี นักวิ่งชาวเคนย่า เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 53 นาที 31 วินาที ส่วนนักวิ่งไทยที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในระยะมาราธอนชาย คือ นายสัญชัย นามเขตด้วยเวลา 2 ชั่วโมง28 นาที 36 วินาทีประเภท 42.195 กิโลเมตร ณ จุดสตาร์ทถนนสนามไชย (ข้างพระบรมมหาราชวัง)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit