“รัฐมนตรีเกษตรฯ” เร่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายางพารา ผ่าน 4 โครงการสำคัญ หวังเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวสวนยาง และเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น

29 Nov 2018
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุม 134-135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบใน 4 โครงการ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย

1. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2561 – 2562 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยาง เป้าหมาย เกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ที่เปิดกรีดแล้ว และขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย รวมเนื้อที่ 9,448,447 ไร่ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (กรณีมีคนกรีดยางแบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง ๗๐๐ บาทต่อไร่) วงเงิน 17,512,734,883 บาท (ซึ่งเป็นงบของ ธ.ก.ส. และ กยท.)

2. โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร โดยการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ ทั่วประเทศจำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้มีการดูดซับน้ำยางออกจากตลาดในปริมาณมาก และจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร จัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การยางแห่งประเทศไทย และดำเนินโครงการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตามแผนปฏิบัติงานโครงการปรับปรุงถนนภายในหมู่บ้าน ให้เป็นถนนที่มีการนำยางพารามาเป็นส่วนผสม ในการก่อสร้างถนนในชั้นพื้นฐานหนา 15 เซนติเมตร กว้าง 6 เมตร คาดว่าสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้นโดยการนำยางพารามาใช้ในการทำถนน เป็นจำนวนน้ำยางสด 1,440,614.4 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,320.2 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,326.9600 ล้านบาท วงเงิน92,327.4320 บาท (ใช้งบประมาณจากเงินสะสมขององค์กรปกครองท้องถิ่น)

3. โครงการการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพและมีความพร้อมเป็นแหล่งรับซื้อยางพาราจากสมาชิกเกษตรกรและรวมตัวกันเพื่อจำหน่ายยางพาราเพื่อการส่งออก ขณะนี้ได้สำรวจเบื้องต้นพบว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 8 กลุ่มสหกรณ์ที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรต้นแบบที่สามารถผลักดันสินค้ายางพาราส่งออกไปต่างประเทศได้สำเร็จ จึงให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์การยางที่มีความเข้มแข็งและสนใจทำผลิตภัณฑ์ยางส่งออกเข้าร่วมโครงการ (วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท) และ 4. โครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน เป็นการช่วยลดความเสี่ยงด้านผลกระทบจากราคายางตกต่ำ และช่วยเพิ่มรายได้รวมไปถึงสร้างทางเลือกในอาชีพ เพื่อความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อดูแลกำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย

"ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง หากเกิดปัญหาอุปสรรคให้รีบแจ้งทันทีเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า โดยการขับเคลื่อนทั้ง 4 โครงการนี้จะเร่งรัดให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด ซึ่งตั้งใจอย่างยิ่งว่าอยากให้ความสำเร็จนี้เป็นของขวัญก่อนปีใหม่ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเชิญบริษัทล้อยางทั้งในและต่างประเทศ มาหารือร่วมกันเป็นช่วงสุดท้าย ถึงประเด็นการเพิ่มปริมาณการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร ซึ่งจะต้องขอรับการช่วยเหลือและสนับสนุนอะไรจากรัฐบาลบ้าง " นายกฤษฎา กล่าว