สรุปใจความสำคัญ session ช่วงบ่ายงาน Thailand SEC Policy Dialogue 2018: Regulating by Market Forces

29 Nov 2018
หัวข้อ "Future State of Investment Profession"

ผู้บรรยาย Nick Pollard, Managing Director, Asia Pacific – CFA Institute

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการเงินในอนาคตเกิดจากแรงผลักดันของสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ประกอบด้วย การเปลี่ยนโครงสร้างอายุของประชากร เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถส่วนบุคคลและองค์กร ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจระดับมหภาค การบริหารจัดการทรัพยากร และนโยบายของรัฐบาล ผนวกกับ นวัตกรรมทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้มาจากผลสำรวจจากผู้นำในอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก โดยมีผลสำรวจที่น่าสนใจ อาทิ

  • 84% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่าภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกิจในอุตสาหกรรมจะเกิดการควบรวมกันมากขึ้น
  • 70% ของนักลงทุนจะเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนมาลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็น passive กันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนกำไรของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมลดลงและความเห็นส่วนมากยังเชื่อว่าผู้ลงทุนสถาบันจะสามารถลดต้นทุนจากการลงทุนได้
  • 73% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะเข้ามามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากขึ้น
  • 70% คาดการณ์ว่า ภูมิภาคเอเชียจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น
  • 49% ยังเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีจะเป็นส่วนช่วยสร้างโอกาสทางการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น
  • 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากสถาบันการเงินชั้นนำ คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการเงินจะสามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับสังคมได้ จากการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมมากขึ้น

จากผลการวิจัยดังกล่าวทำให้คาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้

1.Fintech Disruption – การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีทางการเงินทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมในหลาย ๆ แง่มุม อาทิ การเติบโตของ Robo-Advisers การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนของผู้ลงทุน การเติบโตของรูปแบบการลงทุนแบบ Passive การลดการจ้างงานลง อัตราส่วนกำไรของธุรกิจที่ลดลง รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลที่มีมากขึ้น เป็นต้น

2.Parallel Worlds – ความแตกต่างของกลุ่มคนทั้งความต่างทางภูมิภาคหรือกลุ่มสังคม นำมาซึ่งการมีส่วนร่วมในสังคมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความต้องการส่วนบุคคลที่ต้องการความรวดเร็ว ความเรียบง่าย และตอบโจทย์ส่วนตัวได้มากที่สุด ทำให้ในอนาคต ธุรกิจจำเป็นจะต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

3.Lower for Longer – ยุคของอัตราดอกเบี้ยต่ำจะดำเนินต่อไปในอนาคตข้างหน้าอย่างน้อยอีก 5-10 ปี รวมไปถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระดับต่ำ และความไม่มั่นคงของเสถียรภาพทางการเมืองที่มากขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ อาทิ มาร์จิ้นที่ลดลง การเข้ามามีบทบาทของเจ้าของสินทรัพย์ที่มากขึ้น เป็นต้น

4.Purposeful Capitalism – แนวคิดแบบทุนนิยม เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นแนวคิดทุนนิยมแบบยั่งยืน ซึ่งทำให้ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น เจ้าของสินทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ให้ความสำคัญกับลูกค้ามากขึ้นจากการสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึงนี้ทำให้ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน โดยที่น่าสนใจคือรูปแบบทักษะที่องค์กรต้องการจะเปลี่ยนจาก Hard Skills เป็น Soft Skills มากขึ้น

หัวข้อ "Dual-Class Shares: The Good, The Bad, and The Ugly"

ผู้บรรยาย Mary Leung, Head of Standard and Advocacy, Asia Pacific – CFA Institute

Dual-Class Shares (DCS) คือ การแบ่งหุ้นสามัญออกเป็น 2 ประเภท โดยให้สิทธิในการออกเสียง (Voting Rights) ไม่เท่ากัน อาทิ การที่บริษัทออกหุ้นประเภทหนึ่ง 1 หุ้น มีสิทธิออกเสียงเท่ากับ 10 คะแนนเสียง โดยจะเรียกหุ้นประเภทนี้ว่า Super voting shares ในขณะที่หุ้นอีกประเภทหนึ่ง เป็นหุ้นสามัญธรรมดาที่ 1 หุ้นมีสิทธิออกเสียงเท่ากับ 1 คะแนนเสียง โดยรูปแบบการออกหุ้นดังกล่าวมักเป็นการออกหุ้นประเภทให้สิทธิออกเสียงมากกับกลุ่มผู้บริหาร เจ้าของ และประเภทหุ้นสามัญธรรมดาที่มีสิทธิออกเสียงน้อยให้กับผู้ลงทุนทั่วไป ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของโครงสร้างการออกหุ้นสามัญประเภทนี้ก็เพื่อทำให้บริษัทที่มีความตั้งใจอยากระดมทุน แต่ยังอยากมีสิทธิในการบริหารจัดการด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามโครงสร้างดังกล่าวก็ยังคงมีเสียงโต้แย้งจากผู้ลงทุนในหลายประเด็น อาทิ ความไม่ยุติธรรม ความโปร่งใส รวมไปถึงการตั้งคำถามในเรื่องของธรรมาภิบาลว่า บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของนักลงทุนอย่างแท้จริงหรือไม่

ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญจากผลการสำรวจเกี่ยวกับโครงสร้างการออกหุ้นแบบ Dual-Class Shares อาทิ ไม่มีกลไกในการปกป้องผู้ลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้นสามัญแบบมีสิทธิโหวตน้อย เกิดความไม่เที่ยงธรรมในการบริหารจัดการ เนื่องจากผู้ถือหุ้นที่มี Super voting shares อาจดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

ทั้งนี้ จากความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย จากการที่ประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ได้มีการอนุญาตให้บริษัทสามารถใช้โครงสร้างการออกหุ้นสามัญแบบ Dual-Class ได้ อาจทำให้ประเทศอื่นในภูมิภาคหันมาให้ความสนใจในการนำโครงสร้างดังกล่าวไปใช้ในประเทศของตน ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลว่า

ผู้ลงทุนในเอเชียอาจจะยังขาดประสบการณ์และความรู้ในการลงทุนในบริษัทที่มีโครงสร้างแบบ Dual-Class Shares จึงจำเป็นต้องมีมาตรการหรือกลไกในการป้องกัน ให้เกิดความยุติธรรมแก่ทั้งผู้ถือหุ้นทั้งสองแบบ โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ Dual-Class Shares อาทิ

การเผยแพร่ข้อมูลและให้ความรู้กับผู้ลงทุน เกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียรวมถึงความเสี่ยงของการลงทุนในบริษัทที่มีโครงสร้างในการออกหุ้นเป็นแบบ Dual-Class Shares เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ลงทุน ในฝั่งผู้ลงทุนก็ควรจะมีการกระตุ้นให้เกิดการทำ Due Diligence ในบริษัทที่ตัวเองไปลงทุน รวมถึงอาจมีการเรียกร้องให้บริษัทมีมาตรการในการปกป้องนักลงทุน

ส่วนในฝั่งผู้ออกกฎเกณฑ์หรือบริษัท จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงให้ความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบภายในของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ

การใช้กลไก Time-Based Sunsets Mandatory ซึ่งเป็นกลไกที่กำหนดให้บริษัทนั้นสามารถมีโครงสร้างของหุ้นเป็นแบบ Dual-Class Shares ได้ แต่ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น บริษัทออกหุ้นเป็น Dual-Class Shares ใน 5 ปีแรก และภายหลังจากครบ 5 ปี สิทธิในการออกเสียงของหุ้นทั้งสองกลุ่มจะกลับมาเป็น 1 หุ้น มีสิทธิในการออกเสียง 1 เสียง เช่นเดิม

หัวข้อ "ESG Investing: a Force for Sustainable Capitalism

ผู้บรรยาย คุณวิทัย รัตนากร เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ทุนนิยมที่ยั่งยืน (Sustainable capitalism) เกิดขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาระบบทุนนิยมเดิมที่อาจมีปัญหาเรื่องการไม่ค่อยให้ความสำคัญกับปัจจัยที่อาจส่งผลระยะยาว และมองไกลกว่าเรื่องการเจริญเติบโต

การนำ ESG เข้ามาใช้ในการจัดการลงทุนมี 3 วิธี

Integration ซึ่งมีโอกาสได้ทั้งผลตอบแทนทางการเงินและบรรลุเป้าหมายลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG) ด้วย

Value เป็นเรื่องความเชื่อและนำมาสู่การไม่ลงทุนในธุรกิจบางประเภทที่ขัดกับค่านิยมแบบนี้ ผลตอบแทนทางการเงิน และ ESG จะแยกจากกัน

Impact จะพิจารณาเป็นรายโครงการ รายบริษัท และต้องวัดผลได้ แบบนี้ ผลตอบแทนทางการเงินและ ESG อาจจะมีจุดร่วมกันบ้าง

ESG อาจจะไม่ได้ทำให้เสียผลตอบแทนทางการเงินเสมอไป อาจไปควบคู่กันได้ โดยมีสถิติย้อนหลังบอกว่าบริษัทที่มี ESG ที่ดีจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่า และจะเป็นตัวป้องกันความเสี่ยง tail risk (extreme risk) ที่อาจเกิดขึ้น ปีนี้ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) ได้ลงทุนด้าน ESG เป็นจำนวน 1,000 ล้านบาท และใช้ดัชนีความยั่งยืน (SET THSI Index) เป็นตัวชี้วัด และเชื่อว่าถ้าหน่วยงานต่าง ๆ ลงทุนใน ESG จำนวน 500-1,000 ล้านบาท น่าจะทำให้การเติบโตของ ESG มีมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนก็สามารถมีส่วนเข้าร่วมได้ตามบทบาทของตัวเอง ในช่วงที่ผ่านมา ESG ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนสถาบัน โดยที่ กบข ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Principles for Responsible Investment (PRI) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ (UN) ในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการลงทุนที่มีความรับผิดชอบโดย PRI จะมี 6 หลักการใหญ่ ๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม

โดยในปัจจุบันมีผู้ลงทุนสถาบันเข้าร่วมกว่า 2,000 ราย และมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 80 พันล้าน USD กบข เชื่ออย่างจริงใจว่า ESG ไม่ใช่การทำประชาสัมพันธ์แต่เป็นเครื่องที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาตลาดทุนและสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้

หัวข้อ "Stewardship and Responsible Investing: the Proxy Advisor's Role in the Ecosystem"

ผู้บรรยาย Mr. Warren Chen, Head of Asia ex-Japan Research, Institutional Shareholder Service (ISS)

ธุรกิจการให้บริการ proxy voting เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ Stewardship ecosystem ซึ่งธุรกิจนี้กำลังอยู่ในทิศทางที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารกิจการของบริษัทในหลาย ๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการบริหารงานที่โปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการด้วย แม้แต่ในฮ่องกง ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่เปิดกิจการงานแบบครอบครัว ก็เริ่มมีการเพิ่มสัดส่วนของกรรมการอิสระซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ทำเพื่อผู้ลงทุนมากขึ้น

ด้วยกระแสของการเข้ามามีส่วนร่วมของนักลงทุน (Investor activism) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ proxy voting service เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการให้คำแนะนำแก่นักลงทุนในการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระเบียบการบริหารงานภายในของบริษัท กฎเกณฑ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือข้อมูลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านของบริษัท Proxy voting service จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจในการออกเสียงได้อย่างเหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพให้กลไกการเกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

หัวข้อ "Market Forces: an External Governance Mechanism"

ผู้บรรยาย คุณอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย

ปัจจุบันมีแรงผลักดันและตัวเร่งมากมายที่ทำให้การกำกับดูแลกิจการเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเป็นอย่างมากในตลาดทุน แรงผลักดันที่สำคัญ อาทิ การมีคู่แข่งขันซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้บริษัทต้องพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาในด้านการกำกับดูแลกิจการ เช่น การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส การกำหนดและจ่ายค่าตอบแทนของผู้บริหารและกรรมการ มีโครงสร้างการจัดการที่ดี การบริหารความเสี่ยง การคำนึงถึงผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มากขึ้น เป็นต้น

แรงผลักเหล่านี้มักจะเกิดจากผู้ลงทุนสถาบัน เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญและมีทรัพยากร ประกอบกับหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าและผู้ลงทุน แต่ผู้ลงทุนมักลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้แรงผลักดันที่ว่านี้อาจจะไปไม่ถึงบริษัทที่มีขนาดเล็ก ทำให้เราจะต้องหาทางที่จะช่วยเหลือผู้ลงทุนทั่วไปด้วยเพื่อทำให้เขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ Market Force ในตลาดทุนได้

ผู้บริโภคจึงเป็นแรงสนับสนุนเพื่อให้บริษัทจะก้าวเติบโตไปได้ แต่ก็ไม่ควรที่จะรอ Market force เพียงอย่างเดียว บริษัทควรจะมีมุมมองต่อ Market Force ว่าเป็นแรงสนับสนุนมากกว่าเป็นแรงผลักดัน กล่าวคือบริษัทควรที่จะมี self-discipline เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และด้วย Market Force ที่มีนี้จะทำให้เกิดแรงสนับสนุนจากผู้บริโภคกับบริษัทที่มีสินค้าหรือบริการที่ดี ทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพและเกิดเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทเอง ซึ่งจะเป็นการ "เปลี่ยนแรงผลักดันให้เป็นแรงสนับสนุน"

หัวข้อ "Competition – a Force for Good?"

ผู้ร่วมเสวนา

คุณวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิติ้แบงก์ ประเทศไทย

ดร. ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล (BCAP)

คุณเจษฎา สุขทิศ นายกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย

ผู้ดำเนินรายการ คุณเอกพล แสวงศรี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สายงานนโนบาย สำนักงาน ก.ล.ต.

การแข่งขันจะทำให้เกิดพัฒนาการใหม่ ๆ ทั้งในด้านของคุณภาพและราคาของสินค้า และทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งจากผู้เล่นรายเดิมและผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งเป็นอีกประโยชน์หนึ่งของการมี Market Force ซึ่งในตลาดทุนก็เช่นเดียวกัน ในช่วงเสวนานี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เล่นในตลาดที่เป็นส่วนหนึ่งของ Disruption ใหม่ ๆ บน Landscape ของตลาดทุนที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต ทั้งจากผู้แนะนำการลงทุน Low-cost player, และฟินเทค การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นหรือไม่? และผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันที่สูงนี้อย่างไร?

คุณเจษฎา กล่าวว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยมี Time sharing บนโซเชียลมีเดียสูงขึ้นมาก

ดร.ธนาวุฒิ มองว่า โครงสร้างของกองทุนรวมปัจจุบันไม่ดี การจะย้ายหรือสับเปลี่ยนกองทุนทำได้ยาก แต่ กองทุนเปิดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ซื้อขายได้สะดวกเหมือนหุ้น (Exchange Traded Fund: ETF) สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และเมื่อใช้ ETF ร่วมกับฟินเทคจะทำให้การซื้อขายกองทุนสะดวกขึ้นกว่าเดิมมาก และขอบคุณสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีการแก้ไขเกณฑ์เพื่อเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรม

คุณวีระอนงค์ มองว่าซิตี้แบงก์เป็นธนาคารที่มีสาขาไม่มาก จึงต้องเน้นคุณภาพของคำแนะนำเป็นอย่างมาก โดยจะไม่ทำสิ่งที่เป็น Market push ให้แก่ลูกค้า และมองว่าการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องดี ทำให้มีการลงทุนต่างประเทศโดยตรงได้ ซึ่งเป็นผลดีเนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก ที่บางอย่างไม่มีให้ลงทุนในประเทศไทย

คุณเจษฎา กล่าวว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การแสดงความเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ทำได้ง่าย และหลาย ๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ซึ่งสามารถสมัครได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน

ปัจจุบันเลยมีเพจ เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่คนออกมาให้ความเห็นกันมาก และสิ่งเหล่านี้เริ่มเข้ามามีส่วนในกระบวนการตัดสินใจของนักลงทุน เป็น Investor crowdsourcing และที่สำคัญคือเรื่องนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่าน ก.ล.ต. เพราะไม่ได้มีการยืนยันตัวตน จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครทำ ซึ่งต่างจากการให้ความเห็นของบริษัทหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล

ดร.ธนาวุฒิ กล่าวว่าอุตสาหกรรมจัดการลงทุนจะมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เช่น Fixed-income fund ที่เป็น Deposit substitute จะถูกเก็บภาษี ทำให้ความน่าสนใจลดลงอย่างมาก และในส่วนของกอง FIF มีโอกาสที่นักลงทุนจะไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศเองโดยตรงมากยิ่งขึ้น ทำให้กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) อาจมีความสำคัญลดลง

คุณวีระอนงค์ ให้ความเห็นว่าในปัจจุบันกฎหมายได้เปิดให้ธนาคารสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางโดยไม่ต้องผ่านกองทุน FIF แล้ว แต่ปัจจุบันมีเพียงซิตี้แบงก์รายเดียวที่ทำธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจัง

คุณเจษฎา กล่าวถึงคำถามเกี่ยวกับแนวทางการจัดการความเห็นที่เป็น Scam บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งปัญหาใหญ่คือคนเหล่านี้ไม่ได้มีการลงทะเบียน ซึ่งก็ต้องดูว่าจะยอมใช้เวลา เพื่อให้ตลาดทำงานในการคัดกรองหรือไม่ อีกทางหนึ่งคือต้องมีตัวช่วยนักลงทุน ซึ่งตัว Scam นั่นจะจัดการอย่างไรคงไม่มีทางหมด

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit