มูลนิธิเอสซีจีองค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นเรื่องการพัฒนาคน และตระหนักถึงการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะ จึงได้ดำเนิน โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถด้านศิลปะถึง 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี โดยถือเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award ในปี 2561 นี้ ยังได้รับความสนใจจากน้องๆ ที่มีหัวใจรักงานศิลปะจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 256 ชิ้นงาน และได้รับการพิจารณาคัดเลือกจนเหลือผลงานสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจำนวน 34 ชิ้นงาน เพื่อคัดเลือกสู่ผู้ได้รับรางวัลในแต่ละสาขา
"ปีนี้ทางมูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลยอดเยี่ยมแก่น้อง ๆ ยุวศิลปินทั้ง 6 สาขา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ถือเป็นเกียรติประวัติ เป็นขวัญ และกำลังใจให้กับเหล่ายุวศิลปินไทยอย่างสูงสุดที่จะได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในอนาคต ซึ่งโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยครั้งนี้ ยังคงสร้างมาตรฐานการประกวดด้านศิลปะในประเทศให้มีระดับสูงทัดเทียมกับนานาชาติ โดยทุกผลงานได้รับการการันตีคุณภาพจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ ที่ได้ให้เกียรติมาร่วมการตัดสิน อาทิ ศาสตราจารย์เดชา วราชุน, ศาสตราจารย์เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง และคุณนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นต้น ซึ่งผลงานเหล่านี้จะถูกจัดแสดง ณ พิพิธภันฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ และนิทรรศการพิเศษโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยสัญจร ในหอศิลป์ที่เป็นเมืองศิลปะในส่วนภูมิภาคของประเทศไทยในปีหน้า เพื่อให้น้อง ๆ เยาวชนได้สัมผัสถึงผลงานศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยพลังเชิงชั้นศิลปะที่มีอัตลักษณ์ของยุวศิลปินรุ่นใหม่" ขจรเดช กล่าว
โดยผลการตัดสินในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขาต่าง ๆ ดังนี้
1. รางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะ 2 มิติ ได้แก่ นางสาวนิตยา เหิรเมฆ เจ้าของผลงาน "จิตใต้สำนึกที่ซ่อนเร้น"
2. รางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะ 3 มิติ ได้แก่ นายภาราดา ภัทรกุลปรีดา เจ้าของผลงาน "ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตภายใต้การกำหนดของมนุษย์"
3. รางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพถ่าย ได้แก่ นายปรเมษฐ์ จิตทักษะ เจ้าของผลงาน "สภาวะซ่อนเร้น"
4. รางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ ได้แก่ นายกฤษดา นาคะเกตุ เจ้าของผลงาน "เงาสูญสิ้นแสง"
5. รางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรม ได้แก่ นายชลัช จินตนะ เจ้าของผลงาน "กระดาษคำตอบ"
6. รางวัลยอดเยี่ยมสาขาการประพันธ์ดนตรี ได้แก่ นางสาวชุดาลักษณ์ พินันท์ เจ้าของผลงาน "จิ๋งเญ่า"
ยุวศิลปินเลือดใหม่เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมจากผลงานใน สาขาศิลปะ 2 มิติ อย่าง นางสาวนิตยา เหิรเมฆ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของผลงาน จิตใต้สำนึกที่ซ่อนเร้น เล่าถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนี้ว่า ต้องการสื่อให้เห็นว่าภายใต้ความสงบ ความสบาย ของธรรมชาติ อาจมีสิ่งลี้ลับซ่อนอยู่ เมื่อเราสัมผัสลึกเข้าไปเราจะรู้สึกถึงความกลัวจากสิ่งที่เรามองไม่เห็น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่ออกมาจากจิตใต้สำนึกของเราเอง
"แรงบันดาลใจของผลงานนี้มาจากการที่เราเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบป่า ชอบภูเขา แต่บางครั้งเวลามองเข้าไปในป่าเรากลับรู้สึกถึงความกลัว กลัวว่าข้างในนั้นจะมีสิ่งลี้ลับ กลัวว่าข้างในจะมีอะไร แต่ความจริงแล้วทั้งหมดเป็นแค่สิ่งที่เราคิดไปเอง มันไม่ได้มีสิ่งเหล่านั้นอยู่จริงๆ มันเป็นแค่ความกลัวที่อยู่ในจิตใจของเราเท่านั้น" นางสาวนิตยา กล่าว
ต่อกันที่ผลงานที่มีชื่อว่า ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตภายใต้การกำหนดของมนุษย์ ของ นายภาราดา ภัทรกุลปรีดา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 3 มิติ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการพฤติกรรมการใช้แรงงานสัตว์ของมนุษย์ ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะไม่ได้ใช้แรงงานเหมือนในอดีต แต่ก็ยังคงหลงเหลือพฤติกรรมต่างๆ อย่างเช่น การล่าม การขัง การฝึกสัตว์ ที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์นั้นได้นำความเป็นคนใส่ลงไปในสัตว์
"ผมต้องการสะท้อนสังคมผ่านเรื่องราวของช้าง ที่ต้องเจอกับความทุกข์ยาก ความหดหู่ และความเศร้า จากการถูกควบคุมขัง บังคับใช้แรงงาน ยัดเยียดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ ตามความต้องการของคน โดยที่สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ต้องการภาระหน้าที่ แต่ก็ไร้หนทางที่จะปฏิเสธ เป็นการสื่อให้ถึงความเจ็บปวดของสัตว์ที่มีลมหายใจ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำหนดของมนุษย์" นายภาราดา กล่าว
ด้านนายกฤษดา นาคะเกตุ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงาน เงาสูญสิ้นแสง รางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนต์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า ตอนแรกตั้งใจจะทำภาพยนต์ที่เกี่ยวกับการศึกษา จึงลองพูดคุยกับแม่ถึงความแตกต่างของการศึกษาเมื่อสมัย 40 ปีก่อนกับในปัจจุบัน ซึ่งแม่ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องของคอมมิวนิสต์ที่โดนปลูกฝังให้รู้สึกกลัวมาตั้งแต่เด็ก แม้จะไม่รู้จักว่ามันคืออะไร แต่เพราะเชื่อไปแล้วว่ามีคอมมิวนิสต์จริงๆ จึงได้นำเรื่องราวในความทรงจำของแม่ออกมาถ่ายทอดเป็นภาพยนต์ร่วมสมัยเรื่องนี้
"แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้เกิดจากการที่ผมอยากจะถ่ายทอดความรู้สึก ความทรงจำและความเชื่อของแม่ในวัยเด็กผ่านหนัง ผมคิดว่าสิ่งแรกที่คนดูจะได้รับคือเรื่องของความจริงใจของตัวละครและวิธีการเล่าเรื่อง แต่หากคนดูจะได้ข้อคิดอื่นเพิ่มเติมจากหนังเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่หนังของเราได้สร้างการรับรู้ให้กับสังคม ซึ่งการได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนต์ในปีนี้ จะเป็นกำลังใจให้ผมในการสร้างหนังที่ดีมีคุณภาพต่อไปในอนาคต" นายกฤษดา กล่าว
ขณะที่เจ้าของผลงาน กระดาษคำตอบ รางวัลยอดเยี่ยม สาขาวรรณกรรม อย่างนายชลัช จินตนะ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการเขียนผลงานชิ้นนี้มาจากการสะท้อนปรากฎการณ์ปัญหาทางด้านการศึกษาของสังคมและเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ต้องเข้าสู่ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องพบเจอกับความกดดัน ความคาดหวังครั้งแรกในชีวิต พวกเขาต้องการกำลังใจและแรงผลักดันในการก้าวข้ามกำแพงในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อีกขั้น
"ผมต้องการสื่อให้ผู้อ่านรับรู้ว่า การที่เด็กสักคนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้นั้น คนรอบข้างล้วนมีส่วนสำคัญ เพราะคนรอบข้างจะมีผลต่อสภาวะความคิดและจิตใจของเด็ก เมื่อไหร่ที่เด็กโตขึ้นพวกเขาก็จะเติบโตและก้าวข้ามกำแพงชีวิตไปพร้อมกัน" นายชลัช กล่าว
ปิดท้ายที่รางวัลยอดเยี่ยมใน สาขาการประพันธ์ดนตรี ซึ่งตกเป็นของ นางสาวชุดาลักษณ์ พินันท์ จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงาน จิ๋งเญ่า กล่าวว่า ตนได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง เจ้าหงิญ ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของโลกในจินตนาการมาผสมกับโลกความเป็นจริง โดยในเรื่องได้พูดถึงคุณค่า การแสวงหาความสุขในชีวิต การเรียนรู้ประสบการณ์ทางอารมณ์ วิธีการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรค เกิดเป็นแรงสร้างสรรค์ในการพัฒนาวิธีการใช้เสียงต่างๆของแซกโซโฟน
"คำว่า จิ๋งเญ่า มาจากคำผวนของคำว่า เจ้าหญิง ต้องการเล่นคำเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราสามารถมองเห็นสิ่งเดิมในมุมมองใหม่ได้ และสามารถนำสิ่งใหม่เหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดในอนาคต ซึ่งบนประพันธ์ดนตรี จิ๋งเญ่า จึงถือได้ว่าเป็นการนำความสามารถของแซกโซโฟนในรูปแบบต่างๆ มาสร้างสรรค์ดนตรีใหม่ แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติของเครื่องดนตรีเดิมอยู่" นางสาวชุดาลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ถือเป็นอีกเวทีที่ร่วมเป็นกำลังใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ สู่วงการศิลปะไทยสืบต่อไป โดยมูลนิธิเอสซีจียังคงมุ่งมั่นส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะอย่างเต็มที่ เพื่อต่อยอดความสามารถของน้องๆ ให้ก้าวสู่เวทีระดับสากล อันสะท้อนเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ในการถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและเชื่อมั่นในคุณค่าของคน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit