ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่า จากราคาซื้อขายที่กรุงเทพฯ อยู่ที่กิโลกรัมละ 36 บาทนั้น กลุ่มเกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายในการนำแอมโมเนียและสารกันกอกเพื่อป้องกันยางจับตัวเป็นก้อนมาใส่ในน้ำยางสด รวมทั้งค่าขนส่งเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 10.23 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทางอบจ. รับซื้อน้ำยางสดในพื้นที่โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าวที่กิโลกรัมละ 26.67 บาท
"หาก อปท.ทุกแห่งได้สนับสนุนให้มีการทำถนนภายในหมู่บ้านทุกหมู่บ้านหรือชุมชนทั่วประเทศทั้ง80,000 หมู่บ้าน/ชุมชน ด้วยถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา (Para Soil Cement) หมู่บ้านละอย่างน้อย1 กิโลเมตรก็จะต้องใช้น้ำยางพาราไม่น้อยกว่า 960,000 ตัน (1ก.ม.ใช้น้ำยางพาราจำนวน 12 ตัน) จะทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น (Demand) อย่างมีนัยยะซึ่งจะส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นตามเป้าหมายอีกทั้งเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย" รมว.เกษตรฯ กล่าว
ด้านนายแพทย์ศราวุธ สันตินันตะรักษ์ นายกอบจ. หนองบัวลำภู กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการก่อสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราแก่ผู้บริหารอบต. เทศบาล และพนักงานด้านช่างถึงการนำน้ำยางพาราสดและน้ำยางพาราข้นมาทำถนนตามมาตรฐานงานดินซีเมนต์ของกรมทางหลวงชนบทตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลักดันราคายางพาราที่ตกต่ำให้มีราคาสูงขึ้น ซึ่งได้ทำถนนสาธิตไว้ที่สาย นภ. ถ. 10009 สายบ้านเก๋าโกใต้-บ้านโนนงาม ตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมืองหนองบัวลำภูสำหรับถนนสายแรกนี้ยาว 200 เมตร ผิวการจราจรกว้าง 6 เมตร คิดเป็น 1,200 ตารางเมตร ใช้ซีเมนต์ 240 ถุงผสมดินลูกรัง คลุกเคล้าให้เข้ากัน ต่อมาใช้น้ำยางพาราสดพ่นให้ทั่วผิวถนน แล้วใช้เครื่องจักรกลเกลี่ยและคลุกเคล้าถึง 4 รอบ แล้วจึงบดอัดให้แน่น
"อย่างไรก็ตาม ยังมีอบต. 43 แห่งและเทศบาล 24 แห่งแสดงความจำนงที่จะร่วมโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางในจังหวัด ทั้งนี้ถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราความยาว 1 กิโลเมตร ผิวการจราจรกว้าง 6เมตร คิดเป็น 6,000 ตารางเมตร ใช้น้ำยางสด 12,000 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 26.67 บาท คิดเป็นค่าน้ำยางสด 320,040 บาท ทั้งนี้เมื่อรวมค่าวัสดุอื่นๆ จะใช้งบประมาณ 1,130,040 บาทในการสร้างถนนงานดินซีเมนต์ยางพาราความยาว 1 กิโลเมตร โดยทางจังหวัดหนองบัวลำภูจะรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรในท้องถิ่นเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และช่วยยกระดับราคายางให้สูงขึ้นตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล" นายกอบจ. หนองบัวลำภู กล่าว