จากการสำรวจข้อมูลตลาดข้าวอินทรีย์ สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 - 12 ได้บูรณาการร่วมกัน พบว่า ปีเพาะปลูก 2559/60 มีการผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (Organics Thailand) ทั้งหมด 28,091 ตัน โดยจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 63 ส่งออกร้อยละ 37 ซึ่งวิถีตลาดข้าวอินทรีย์ไทย เริ่มจากเกษตรกรจำหน่ายข้าวเปลือกให้แก่ผู้รวบรวมในพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 67 จำหน่ายไปที่โรงสีโดยตรงคิดเป็น ร้อยละ 32 ส่วนร้อยละ 1 จำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งผลผลิตข้าวส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นหลัก สายพันธุ์ข้าวในตลาด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล และข้าวเหนียว กข.6
เกษตรกรส่วนใหญ่ จำหน่ายในตลาดสมาชิกเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาทิ สหกรณ์การเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. โดยเกษตรกรต้องเป็นสมาชิก และจะได้รับการส่งเสริมการผลิตภายใต้กระบวนการผลิตข้าวตามมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์ มีการจำหน่ายเป็นข้าวเปลือก 1- 2 ครั้ง/ปี เพราะเกษตรกรเห็นว่า สามารถได้รายได้เป็นเงินก้อนเพื่อมาใช้จ่ายหรือชำระหนี้ได้เพียงพอ สำหรับการแปรรูปส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบข้าวสาร ส่วนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยังมีไม่มากนักเนื่องจากมีต้นทุนจำกัด โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องสำอาง เครื่องดื่มสำเร็จรูป ขนม ซีเรียว และอาหารเสริมสุขภาพ
ด้านนางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) กล่าวเสริมว่า หากมองถึงตลาดค้าส่งในประเทศ นับเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถจำหน่ายข้าวอินทรีย์ได้เป็นประจำและมีปริมาณต่อครั้งค่อนข้างมาก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน โรงพยาบาล ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป รวมถึงการจำหน่ายในรูปแบบการรับจ้างผลิตสินค้าในแบรนท์ของลูกค้าเอง ในขณะที่ตลาดต่างประเทศของข้าวอินทรีย์ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา รัสเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป ญี่ปุ่น ภายใต้มาตรฐาน IFOAM , EU , NOP และ JAS ซึ่งในอนาคตจะขยายตลาดไปยังประเทศจีนตามมาตรฐาน COFCC ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งชี้ให้เห็นอนาคตที่สดใสของข้าวอินทรีย์ไทยในตลาดโลก
ทั้งนี้ สศก. ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดข้าวอินทรีย์ 8 แนวทาง ประกอบด้วย 1) การจัดทำฐานข้อมูลผู้เกี่ยวข้องในระบบตลาดทุกมิติ เพื่อใช้ในการวางแผนผลิต จัดจำหน่าย และสร้างความเชื่อมโยงของกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริโภค 2) การส่งเสริมการผลิตสินค้าและออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำข้อมูล สถานการณ์การผลิต และการตลาดสินค้าอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง 3) การเพิ่มปริมาณการจำหน่ายในช่องทางการตลาดเดิม ได้แก่ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ ณ จุดจำหน่าย เพิ่มสัดส่วนการจัดจำหน่ายในตลาดโมเดิร์นเทรดและตลาดออนไลน์ 4) การส่งเสริมการบริโภคข้าวอินทรีย์ภายในประเทศ สนับสนุนหมู่บ้านท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ เพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5) การสร้าง Brand Loyalty ได้แก่ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับตราสินค้าให้ตรงใจผู้บริโภค เปิดช่องทางให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการแนะนำสินค้าหรือบริการ และการสร้าง Brand Ambassador จากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เช่น นำเสนอสินค้ารับประทาน ใช้สินค้า ถือสินค้า ให้ลูกค้าเห็น เป็นต้น 6) การส่งเสริมระบบตลาดเกษตรอินทรีย์ที่เป็นธรรม ให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตโดยตรงกับลูกค้า มีความสะดวก มีการตกลงราคาที่เป็นธรรม เพื่อลดส่วนเหลื่อมของราคาสินค้าในตลาด รวมทั้งผู้บริโภคได้สินค้าที่สดใหม่ มีการจัดสถานที่จำหน่ายโดยเน้นความเรียบง่าย สะดวก สะอาด 7) การส่งเสริมกลยุทธ์การทำตลาด สร้างความแตกต่างหรือคิดผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ และ 8) การสร้างผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ (New Organics Entrepreneur) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ปี 2560 – 2564 สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจ ต้องสอบถามรายละเอียดผลศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 โทร. 0 4229 2557 หรือ อีเมล [email protected]