นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกระดับ ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์น้ำต้นทุน และข้อมูลผลตอบแทนของพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทนข้าวนาปรัง อาทิเช่น สถิติราคาและผลตอบแทนผลผลิตในช่วงฤดูแล้งปีที่ผ่านมา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2561 ซึ่งพบว่าพืชใช้น้ำน้อยให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวนาปรัง เช่น ข้าวโพดหวานทั้งเปลือก ถ้าปลูกช่วงกุมภาพันธ์ – เมษายนราคาประมาณกิโลกรัมละ 7.21 บาท สามารถทำรายได้ 15,652 บาทต่อไร่ กำไรประมาณ 8,791 บาทต่อไร่ข้าวโพดฝักอ่อน ถ้าปลูกช่วงกุมภาพันธ์ – เมษายน ราคาประมาณกิโลกรัมละ 17.98 บาท รายได้ 16,464 บาทต่อไร่ คิดเป็นกำไร 11,080 บาทต่อไร่ โดยข้าวนาปรัง (โดยปกติจะปลูกช่วงมีนาคม-พฤษภาคม จะขายได้ราคา ตันละ 7,830 บาท รายได้ 5,293 บาทต่อไร่ คิดเป็นกำไร 398 บาทต่อไร่ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกร มีทางเลือกที่ดีในการหันมาปลูกพืชอื่นแทนการทำนาปรัง ซึ่งจากการสร้างความเข้าใจให้ข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีเกษตรกรที่ได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง เพราะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรัง และมีตลาดรองรับแน่นอน เช่น ที่จังหวัดชัยนาท ในหลายพื้นที่ของอำเภอวัดสิงห์ เกษตรกรนิยมปลูกถั่วเขียวหลังฤดูทำนา ได้ราคากิโลกรัมละ 23.75 บาท รายได้ 3,206 บาทต่อไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 135 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นกำไร 1,406 บาทต่อไร่ และพื้นที่ของอำเภอเมืองชัยนาท มีเกษตรกรปลูกแตงกวาทดแทนการทำนาปรัง ได้ราคากิโลกรัมละ 16.50 บาท รายได้ 41,250 บาทต่อไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ กำไร 28,655 บาทต่อไร่ ในขณะที่รายได้จากการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่เดียวกันได้กำไรน้อยกว่า 1,000 บาทต่อไร่
รองอธิบดีฯ ย้ำเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ยังคาดว่าน้ำต้นทุนจะเหลือน้อย ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำในอนาคต กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกร เปลี่ยนมาปลูกพืชอายุสั้น แทนการทำนาปรัง รอบ 2
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit