หนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Safe Food For All นำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิค และวิดีโอ แอนิเมชั่น ดึงดูดการใช้งาน ชูจุดแข็งเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารครบวงจรที่เข้าถึงง่าย นำผลการวิจัย และข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาต่อยอดขยายผล คาดช่วยลดปัจจัยเสี่ยงการบริโภคอาหารปนเปื้อน หวังสร้างเกราะป้องกันให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย และออกพรบ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อสนับสนุนระบบมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย เสริมสร้างระบบการตรวจสอบรับรอง ระบบเฝ้าระวังความปลอดภัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการควบคุมตลอดห่วงโซ่การผลิต และบริหารจัดการองค์ความรู้และกลไกของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้มาตรฐานเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) หรือสวก. จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยในเรื่อง Safe Food For All โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารให้มีความปลอดภัย โดยให้มีทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิต เพื่อให้ได้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และระบบเฝ้าระวังที่จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีตามความรับผิดชอบของตัวเองตลอดห่วงโซ่การผลิต และมีส่วนร่วมในการยกระดับมาตรฐานการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล
"การใช้ เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่เข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่มีสมาร์ทโฟนเป็นปัจจัยที่ 5 โดยพัฒนาสื่อมัลติมีเดียดึงดูดความน่าสนใจมาช่วยในการนำเสนอข้อมูลด้านอาหารปลอดภัยที่จะทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคโดยทั่วไป เข้าถึงข้อมูลด้านอาหารปลอดภัยได้โดยง่ายสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
งานเปิดตัวแอพพลิเคชั่น "Food Safety AR" อาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี AR พร้อมแนะนำการใช้งาน และเผยแพร่ผลจากการศึกษา "โครงการภายใต้กิจกรรรมอาหารปลอดภัย Safe Food for All" ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการสร้างความตระหนักและการรับรู้ด้านอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี AR" ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญภายใต้โครงการ Safe Food For All ซึ่งสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) ได้มอบหมายให้สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหาร(Food Safety) สร้างความตระหนักในปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเนื่องจากอาหารและผลิตภัณฑ์จากอาหาร ต่อผู้บริโภค สร้างองค์ความรู้ให้กับผู้บริโภคในการป้องกัน ดูแล ลดผลกระทบ ในการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อน สารเคมี พยาธิเชื้อโรค ฯลฯ และเพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่งานวิจัยในโครงการ Food Safety ของ สวก."
นายวิเชียร ฤกษ์พัฒนกิจ ที่ปรึกษาสถาบันอาหาร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการอาหารปลอดภัย การตระหนักและการรับรู้ สู่ผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี AR" กล่าวว่า สถาบันอาหาร ได้ดำเนินงานโครงการดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1) การรวบรวมองค์ความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหารปลอดภัย โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ ให้ได้ข้อมูลในเชิงการเผยแพร่ประขาสัมพันธ์ ที่มีความเข้าใจได้ง่าย เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค สามารถใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยจะแยกข้อมูลออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้ กลุ่มปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ กลุ่มสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลไม้และผลิตภัณฑ์ และกลุ่มธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์
2) พัฒนาแอพพลิเคชั่น สำหรับ สมาร์ทโฟน เพื่อให้สามารถรองรับการนำเสนอข้อมูลผ่านเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) โดยรองรับการสแกน AR บนฉลากหรือตัวผลิตภัณฑ์ให้แสดงผลตามที่ต้องการ หรือป้ายอื่นๆ และสามารถเรียกดูข้อมูลภายหลังได้ เช่น ข้อมูลผู้ผลิต ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ มาตรฐานที่ได้รับ เลขทะเบียนอย. รวมข้อมูลด้านความปลอดภัยของอาหาร ภาพเคลื่อนไหว (VDO) เป็นต้น โดยโครงสร้างเนื้อหาประกอบไปด้วย เมนูหลัก 6 เมนู อันได้แก่ 1.กลุ่มปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ 2.กลุ่มสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ 3. กลุ่มผักและผลิตภัณฑ์ 4. กลุ่มธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์ 5.สวก. และ 6. AR (เพื่อเปิดกล้องส่องภาพ)
เมนูย่อยประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป จะเป็นเนื้อหาในเรื่องทั่วๆ ไปที่เกี่ยวกับอันตราย ผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือ อาหารที่ไม่ปลอดภัย จะเป็นการสรุปข้อมูลในรูปแบบ ของอินโฟ กราฟิคให้กระชับและง่ายต่อการทำความเข้าใจ อาทิ อันตรายจากสิ่งปนเปื้อนในผักสดและผลไม้ อันตรายทางชีวภาค(เชื้อโรค)ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมการบริโภค เช่น การชำระล้าง การปรุงธัญพืช ถั่วเมล็ดและผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อน หรือไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น เมนูย่อยเกี่ยวกับผลของการสำรวจ ในเรื่องของอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลาที่สำรวจตัวอย่าง จะเป็นการสรุปข้อมูลในรูปแบบของอินโฟกราฟิค ให้กระชับและง่ายต่อการทำความเข้าใจ อาทิ เชื้อก่อโรคในแอปเปิ้ลแดงนำเข้า เชื้อก่อโรคกับยำแหนม ผักกับยาฆ่าแมลง เชื้อก่อโรคในก๋วยเตี๋ยวลุยสวน เป็นต้น 3) จัดทำระบบการจัดการการดูแลและการบำรุงรักษาฐานข้อมูล เพื่อรองรับเทคโนโลยี AR และ4) การจัดประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่และแนะนำการใช้แอพพลิเคชั่น "Food Safety AR" ที่ได้จัดขึ้นในวันนี้
"ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลและองค์ความรู้จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ได้แก่ โครงการ Clean Food Good Taste ของกระทรวงสาธารณสุข โครงการร้านอาหารมาตรฐาน Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ผลงานวิจัยภายใต้โครงการ Safe Food For All ของสวก. และผลงานวิจัยภายใต้โครงการ "มันมากับอาหาร" ของสถาบันอาหารเอง ซึ่งแอพพลิเคชั่น "Food Safety AR" จะเป็นประโยชน์และจะช่วยลดผลกระทบจากการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคชาวไทยในเรื่องการมีสุขภาพที่ดีต่อไป ประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้แล้วทั้งระบบ Android และ IOS"