ข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2557-2559 รายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 69, 67, และ 60 คน ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ เนื่องจากจมน้ำเป็นเวลานาน กองเวชศาสตร์ใต้น้ำรายงานผลการศึกษา โอกาสการเสียชีวิตจากการจมน้ำกับระยะเวลาการจมน้ำ พบว่า เมื่อจมน้ำนานกว่า 10 นาที มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 88 ดังนั้น การช่วยชีวิตให้ทันเวลาเป็นสิ่งจำเป็น แต่จากข้อมูลส่วนใหญ่ผู้ปกครองไม่ทราบว่าเด็กไปเล่นน้ำ เมื่อทราบเด็กก็จมน้ำเป็นเวลานานมากและเสียชีวิตที่เกิดเหตุ การทำให้เด็กมีทักษะลอยตัวเพื่อเอาชีวิตรอด หรือ การจัดการกับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยเป็น สิ่งสำคัญที่สุด รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่เด็ก ผู้ปกครองและชุมชน ต้องทำควบคู่กัน
ดร.นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจมน้ำของเด็กในเขต 12 พบว่าพื้นที่เสี่ยงมาก อยู่ในจังหวัดสตูล และปัตตานี พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ได้แก่ จังหวัดสงขลา และนราธิวาส ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้อย ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง และยะลา นอกจากนี้พบกลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มเด็กอายุ 1-2 ปี และอายุ 5-9 ปี ช่วงเดือนที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน พบว่ามีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 9 คน และช่วงฤดูฝน เดือนธันวาคม-มกราคม เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 7 คน ซึ่งมีสาเหตุการเสียชีวิต มาจากการจมน้ำเป็นเวลานาน ณ จุดเกิดเหตุ และการไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องทันเวลา และในปี 2561 (มกราคม-สิงหาคม) พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี จำนวน 45 คน เพศชายสูงกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 6 ปี รองลงมาอายุ 2 ปี – 6 ปี และ อายุ 0-2 ปี สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดในคลอง แม่น้ำ แก่งน้ำ น้ำตก รองลงมาเป็นคลองขุด ร่องขุด และคลองชลประทาน ฝายกั้นน้ำ และทะเล
ทั้งนี้ สคร.12 สงขลา มีการสร้างทีมผู้ก่อการดี (ทีมใหม่) ที่สมัครใจ ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ โดยล่าสุดเครือข่ายในเขต 12 ได้รับรางวัลการประเมินรับรองทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker) ป้องกันการจมน้ำ ระดับประเทศ ปี 2561 ได้แก่ จังหวัดตรัง, นราธิวาส, พัทลุง, ยะลา, สงขลา และสตูล
ดร.นายแพทย์ สุวิช กล่าวว่า กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำของประเทศไทย สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ แนะนำช่วยการเป็นหูเป็นตา แจ้งเตือนผู้ปกครองเมื่อพบเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง และแนะนำผู้ปกครอง ต้องสอนเด็กให้รู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น สอนให้เด็กมีทักษะการเอาชีวิตรอดและวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำที่ถูกต้อง ไม่ลงไปช่วยคนจมน้ำด้วยตนเอง ต้อง "ตะโกน" เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ทั้งนี้ การช่วยชีวิตเด็กจมน้ำโดยการจับอุ้มพาดบ่าและกระทุ้งท้องเป็นวิธีการที่ต้องห้ามกระทำ และเป็นอันตรายกับผู้ที่จมน้ำ เพราะน้ำที่ออกมาเป็นน้ำจากกระเพาะอาหารไม่ใช่ออกมาจากปอด ส่วนชุมชนควรสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง และติดป้ายเตือน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์การช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายในชุมชน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุจมน้ำ สามารถสอบถามได้ที่ โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit