นายภานุวัฒน์ ณ นครพนม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวระหว่างการเป็นประธานเปิดการประชุมด้านธุรกิจสหกรณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนครั้งที่ 8 (The 8 th ASEAN Cooperative Business Forum : ACBF) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมปริ้นพาเลช กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า ตลอดจนการลงทุนระหว่างสหกรณ์การเกษตรของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่กำกับดูแลสหกรณ์และตัวแทนขบวนการสหกรณ์จาก 8 ประเทศ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์และไทย เข้าร่วมประชุม และจะมีการประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือกัน และกำหนดกรอบการประชุมในครั้งนี้ว่า "การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดสินค้าสหกรณ์และความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ในอาเซียน"
ทั้งนี้ การประชุมด้านธุรกิจสหกรณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนครั้งที่ 8 นี้ จะมีการนำเสนอความสำเร็จของสหกรณ์ในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดของสินค้าสหกรณ์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมสหกรณ์และความสำเร็จของสหกรณ์ในด้านการตลาดสินค้า มีการสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ในประเทศอาเซียน และในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 จะนำคณะผู้เข้าประชุมเดินทางไปศึกษาดูงานสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ซึ่งเป็นสหกรณ์โคนมแห่งแรกของประเทศไทย และสหกรณ์การเกษตรบ้านรางสีหมอกราชบุรี จำกัด จังหวัดราชบุรี ซึ่งก่อตั้งในปีพ.ศ. 2548 เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกที่ทำสวนผลไม้ 200 คนเศษ พื้นที่เพาะปลูก 4,000 ไร่ ผลิตและส่งมะพร้าวอ่อนส่งออกขายต่างประเทศและห้างร้านชั้นนำภายในประเทศ เพื่อให้ผู้แทนสหกรณ์จากอาเซียนได้ศึกษาแนวทางการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกและไปจำหน่ายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การประชุมด้านธุรกิจสหกรณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน จัดขึ้นปีละครั้งและหมุนเวียนแต่ละประเทศรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งที่ผ่านมาผลจากการประชุมทำให้เกิดความร่วมมือทางการค้าระหว่างสหกรณ์ เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และนำไปสู่การจัดงานแสดงสินค้าในระดับภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนสหกรณ์นำผลผลิตและสินค้าสหกรณ์แต่ละประเทศไปจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ให้กับผู้บริโภคในประเทศอาเซียนได้รู้จัก และเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าสหกรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้ที่มั่นคงสู่สมาชิกสหกรณ์ในประเทศอาเซียนต่อไป