แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดี
กรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเยี่ยมเสริมพลัง
โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับ
เพชรอำเภอน้ำโสม "น้ำโสม
โมเดล"
จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาการ ได้มีนโยบายที่สอดคล้องกันในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและสุขภาพอนามัยที่ต้องการให้เด็กเป็นคนดี เป็นคนเก่งและมีความสุข โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้แนวคิดโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่พัฒนาครอบคลุมทุกมิติด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนในโรงเรียนและชุมชน โดยเฉพาะนักเรียนจะได้รับการปลูกฝังทัศนคติ ฝึกทักษะและพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะด้านสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม "น้ำโสมโมเดล" จึงนับเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเด็กวัยเรียนแบบองค์รวม โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทังภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกันพัฒนาสุขภาพเด็กวัยเรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ โดยอาศัยกระบวนการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง 10 องค์ประกอบและต่อยอดการพัฒนาโรงเรียนสู่เกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรที่เน้นการวัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียนและผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วยมาตรฐาน 3 ด้าน ดังนี้ มาตรฐานที่ 1 การดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ มาตรฐานที่ 2 การดำเนินงานสุขภาพของนักเรียนแกนนำ มาตรฐานที่ 3 ผลสำเร็จของการดำเนินงาน ภาวะสุขภาพของนักเรียน โครงการแก้ปัญหาในโรงเรียน งานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ น้ำบริโภคปลอดภัยและเพียงพอ สุขาน่าใช้ โภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร การป้องกันอุบัติเหตุ การป้องกันและแก้ไขมลภาวะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
"ทั้งนี้ การดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมุ่งให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการดีมีสุขภาพแข็งแรง มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพดี มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้ติดตามภาวะการเจริญเติบโต การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง และมีกิจกรรมแก้ปัญหาในเด็กนักเรียนที่มีภาวะ อ้วน เตี้ย ผอม การส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน การตรวจวัดสายตาและ การได้ยิน รวมถึงนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการช่วยเหลือ ส่งเสริมให้มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด เพียงพอ มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดี มีที่นั่งพักผ่อนและสวนหย่อมในบริเวณโรงเรียน ปราศจากมลพิษและปลอดภัย ส่งเสริมให้มีการสอนสุขศึกษาในโรงเรียนทุกรูปแบบ ทั้งแบบรายวิชา แบบบูรณาการและปฏิบัติจริง" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารตราโรซ่า กล่าวว่า "โครงการ
โรซ่าโฮมฮักรักลูกหลานโภชนาการดี เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 เกิดจากความร่วมมือของโรซ่ากับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยลดปัญหาด้านโภชนาการในพื้นที่แถบภาคอีสานตอนบน และผลักดันให้โรงเรียนในพื้นที่ก้าวสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร โดยเล็งเห็นว่าโรงเรียนที่ได้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร สามารถส่งเสริมสุขภาพของเด็กๆ ได้จริง โดยทุกๆ ปีจะมีโรงเรียนในโครงการผ่านเกณฑ์เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร แต่ในปีนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนในพื้นที่เดียวกันคือ อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ผ่านเกณฑ์เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรสำเร็จพร้อมกันถึง 6 โรงเรียน จากความสำเร็จดังกล่าวจึงนำมาถอดบทเรียนสร้าง "น้ำโสมโมเดล" เพื่อนำไปใช้ต่อเนื่องในโครงการต่อไป
"น้ำโสมโมเดล" ถูกจัดให้เป็น
ต้นแบบของการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเยาวชนในพื้นที่ขาดแคลน ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และชุมชนในพื้นที่ ซึ่งได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอน้ำโสม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี โรงพยาบาลน้ำโสม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และโครงการโรซ่าโฮมฮักรักลูกหลานโภชนาการดี โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่นายแพทย์กังวาล วงศ์รัศมีเดือน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำโสม ได้มาเห็นโรงเรียนบ้านท่าโสมที่เข้าร่วมโครงการโรซ่าโฮมฮักรักลูกหลานโภชนาการดี และผ่านเกณฑ์เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรได้สำเร็จ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวนั้น เด็กๆ ในโรงเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริง จึงเป็นแรงบันดาลใจที่จะพาโรงเรียนในอำเภอของตัวเองผ่านเกณฑ์เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรให้ได้ ดังนั้นจึงตัดสินใจเชิญชวนโรงเรียนในอำเภอเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมทั้งหมด 9 โรงเรียน ซึ่ง 6 ใน 9 นี้ผ่านเกณฑ์เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรได้แก่ โรงเรียนบ้านท่าโสม โรงเรียนน้ำโสมประชาสรรค์ (ถิรธัมโมอุปถัมภ์) โรงเรียนบ้านหยวก โรงเรียนบ้านโชคเจริญ โรงเรียนบ้านท่าลี่ และโรงเรียนบ้านน้ำซึม
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ "น้ำโสมโมเดล" มีองค์ประกอบและขั้นตอนที่สรุปได้ดังนี้
ชุมชนเจ้าของพื้นที่และโรงเรียนเห็นความสำคัญของการผ่านเกณฑ์เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร และมีความตั้งใจจริงที่จะผนึกกำลังส่งเสริมให้โรงเรียนในพื้นที่
ได้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร
จับกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่ (อำเภอ) ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการโรซ่าโฮมฮักรักลูกหลานโภชนาการดี
?
โครงการฯ จัดเวิร์คชอปให้ทั้งความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ โดย ศูนย์อนามัยทึ่ 7 และ 8 อุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอน้ำโสม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลน้ำโสม เพื่อให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำไปดำเนินการพัฒนาโรงเรียนในภาคปฏิบัติ
ในขณะที่โรงเรียนนำความรู้ที่ได้จากการเวิร์คชอปไปปรับใช้ โครงการฯ โดยศูนย์อนามัยทึ่ 8 อุดรธานีและ หน่วยงานจากชุมชนเจ้าของพื้นที่ รวมถึงโรงเรียนพี่เลี้ยงที่เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรเข้าตรวจเยี่ยม ให้ความรู้ คำแนะนำ รวมถึงทำการทดสอบการประเมินความพร้อมของโรงเรียนก่อนที่จะถูกประเมินจริง
ศูนย์อนามัยทึ่ 8 อุดรธานีเข้าประเมินโรงเรียนตามเกณฑ์โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร
จากความมุ่งมั่นตั้งใจของหนึ่งในผู้นำความคิดของชุมชน และความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความช่วยเหลือของโรงเรียนพี่เลี้ยงในอำเภอที่เคยผ่านเกณฑ์ฯมาแล้ว 2 โรงเรียน ได้แก่บ้านท่าโสม และบ้านทุ่งทอง ทำให้วันนี้อำเภอน้ำโสมมีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรพร้อมกันถึง 6 โรงเรียน ซึ่งก็หมายถึงเป้าหมายที่จะทำให้เยาวชนในพื้นที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนประสบผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
วิธีการทำงานแบบ "น้ำโสมโมเดล" ถูกพิสูจน์แล้วว่าเกิดผล จึงจะถูกนำมาใช้เป็นโมเดลต้นแบบ ในการพัฒนาสุขภาวะของเยาวชนอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการโรซ่าโฮมฮักรักลูกหลานโภชนาการดี โดยการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมที่จะพัฒนาโรงเรียนและชุมชนของตนเองต่อไป
สำหรับโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร เป็นเกณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งขึ้นมา มีการรณรงค์เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน มีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด มีเกณฑ์การวัดผลที่ชัดเจน คือต้องสอบผ่านเกณฑ์ 19 ตัวชี้วัด ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ช่วยยกระดับคุณภาพในการส่งเสริมสุขภาวะของนักเรียนได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข"