กรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำ
เกษตรกรดูแลพืชและน้ำอย่างใกล้ชิด ใน 11 พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอก
เขตชลประทาน แนะหันปลูกพืชใช้น้ำน้อยรายได้ดีกว่าข้าวรอบ 2
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รอง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอก
เขตชลประทานในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) กรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงใน 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ขอนแก่น สุโขทัย หนองบัวลำภู ศรีษะเกษ ชัยภูมิ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ มหาสารคาม และสุพรรณบุรี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อวางแนวทางให้
เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่และพืชผัก ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย จำนวน 104,002 ไร่ กระจายอยู่ใน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล ซึ่งขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชไร่และพืชผักในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว 61,842 ไร่ หรือร้อยละ 60 ของแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูก ตลอดจนแจ้งเตือนให้เกษตรกรติดตามข่าวสารสถานการณ์ที่เกี่ยวกับการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งอย่างใกล้ชิด และหมั่นดูแลรักษาพืชตลอดจนความชื้นในแปลงที่ปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถดูแลรักษาพืชที่ปลูกแล้วให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด และไม่ได้รับผลกระทบในฤดูแล้ง นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังเร่งสร้างความเข้าใจ ให้ข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกร และให้เกษตรกรร่วมวิเคราะห์แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำในไร่นา ว่าเพียงพอสำหรับปลูกพืชตามแผนหรือไม่ เพื่อแนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ได้แก่ พืชไร่ พืชผัก ทดแทน ซึ่งรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวรอบที่ 2
ล่าสุดในพื้นที่ตามแผนการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่และพืชผักทดแทนนาปรัง ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ 11 จังหวัด เริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว พบว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรัง เช่น พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานในช่วงฤดูแล้ง จ.นครสวรรค์ มีผลตอบแทนเฉลี่ย ประกอบด้วย ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,100 กก./ไร่ คิดเป็นรายได้ 7,700 บ./ไร่ กำไรไร่ละกว่าสามพันบาท ถั่วเขียว 120 กก./ไร่ รายได้ 2,880 บ./ไร่ กำไรไร่ละกว่าพันบาท แตงโม 4,000 กก./ไร่ รายได้ 36,000 บ./ไร่ กำไรไร่ละกว่าสองหมื่นบาท เมื่อเทียบกับ ข้าวนาปรัง ที่ให้ผลผลิต 670 กก./ไร่ รายได้ 4,020 บ./ไร่ กำไรไร่ละประมาณห้าร้อยบาท จากการลงพื้นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า เกษตรกรที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 พึงพอใจในผลตอบแทน เนื่องจากได้กำไรต่อไร่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรสนใจปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนข้าวนาปรัง รอบที่ 2 สามารถขอคำแนะนำและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเกษตรอำเภอใกล้บ้าน