นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพดูแลตัวชี้วัดด้านจำนวนสิทธิบัตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกอันดับความสามารถของประเทศไทยด้านนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนคนไทยที่ขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งจะส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง อาทิ การนำผลงานไปใช้ประโยชน์ และจำนวนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่มีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เป็นต้น ทั้งนี้ การที่จะพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาควบคู่ไปกับการนำผลงานสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลงานวิจัยจะต้องร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้วยทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงหารือเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และสิ่งที่ต้องการรับการสนับสนุนจากกระทรวงและหน่วยงานต้นสังกัด นอกเหนือจากที่รัฐบาลและกระทรวงมีนโยบายผลักดันงบประมาณทั้งของภาครัฐและเอกชนที่ใช้จ่ายในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้ได้ถึง 1.5% ของ GDP ในปี 2564
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การผลักดันการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยคนไทย ในครั้งนี้ เป็นการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างผลงานวิจัยมาร่วมกันระดมความคิดเห็นอย่างเต็มความสามารถในการวางกรอบแนวทางการดำเนินการเพื่อเพิ่มจำนวนคนไทยที่ขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวนอกจากจะช่วยสะท้อนถึงข้อมูลตัวชี้วัดในการยกอันดับความสามารถของประเทศไทยด้านนวัตกรรมแล้ว ยังส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การเติบโตของเศรษฐกิจ และส่งผลให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยคนไทย เป็นเพียงเป้าหมายปลายทาง แต่ปัจจัยสำคัญเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนั้นคือการพัฒนา Innovation System ทั้งระบบ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา มาตรการส่งเสริมต่าง ๆ รวมถึงการสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาทบทวนว่าทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยจดสิทธิบัตร ซึ่งเราอาจต้องมองในเชิงของธุรกิจด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายยังติดขัด หรือมีความต้องการจากการจดสิทธิบัตรในเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีการพัฒนาปรับปรุง Innovation System ทั้งระบบควบคู่กันไปจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย และพาประเทศไต่อันดับด้านขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ในกลุ่มผู้นำอาเซียนได้อย่างไม่ยาก
"ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2564 ประเทศไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศร้อยละ 1.5 ต่อ GDP มีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาแบบเทียบเท่าทำงานเต็มเวลาของทั้งประเทศ 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน และมีอันดับโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ติด 1 ใน 30 อันดับแรก การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ทั้งในแง่การเพิ่มเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การเพิ่มกำลังบุคลากรความสามารถสูง รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอกชนเล็งเห็นความสำคัญและผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนา ปรับแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้มีการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยคนไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จึงเป็นอีกเวทีที่จะระดมสมองผู้เกี่ยวข้องในส่วนของการปลดล็อคในการกระตุ้นให้คนไทยมีการขอรับสิทธิบัตรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป" เลขาธิการ สวทน. กล่าว
สำหรับรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม โดย IMD ล่าสุด (ปี 2018) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ลดลงมา 3 อันดับจากปีก่อนหน้า แต่หากมองอันดับโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 42 จากทั้งหมด 63 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยมีคะแนนที่ดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด และมีอันดับดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 6 อันดับ ซึ่งเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา นับเป็นปัจจัยตั้งต้นที่สำคัญที่ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยส่งผลลัพธ์ทั้งในรูปการจ้างงานบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา จำนวนบทความด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจำนวนสิทธิบัตรที่เพิ่มขึ้น