แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2559 พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 40 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นมีทารกเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นการวางรากฐานและเป็นการเริ่มต้นชีวิตก้าวสำคัญของเด็กทุกคน ซึ่งกรมอนามัยได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ทุกการเกิดมีการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1000 วันแรกของชีวิตที่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด จึงมุ่งเน้นการวางนโยบายและการจัดบริการที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสกินนมแม่อย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จนั้น เกิดจากไม่ได้เตรียมตัว ขาดการวางแผนหรือการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การจัดระบบบริการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพจึงเป็นบุคลากรกลุ่มสำคัญที่มีส่วนช่วยในการให้ความรู้ สอนทักษะ ช่วยแก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดบริการให้การส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องให้แม่สามารถให้นมลูกได้อย่างเต็มที่
"การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความร่วมมือที่แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถจัดบริการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมมือในการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการ ในหน่วยบริการคลินิกนมแม่ หรือในหน่วยบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานอนามัยแม่และเด็กมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีทักษะที่เพียงพอ สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสมเป็นมาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (BFHI) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกนำมาเป็นแนวปฏิบัติและเป็นนโยบายหลักในการดำเนินงานของกรมอนามัยอีกด้วย ทั้งนี้ขอขอบคุณ UNICEF Thailand สำหรับสนับสนุนงบประมาณในการทำงานด้านนมแม่ และการสนับสนุนด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้พยาบาลวิชาชีพได้เข้ารับการอบรมในปีนี้อีกด้วย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ในความร่วมมือนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตและจัดทำหลักสูตร การพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรการอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้รับการอบรมอย่างเป็นระบบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการพยาบาลแบบองค์รวมแก่สตรีตั้งครรภ์ มารดา เด็ก รวมถึงบุคคลในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการสอน ทักษะการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในภาวะปกติ ผิดปกติและเจ็บป่วย โดยบูรณาการผลงานวิจัยหลักฐานเชิงประจักษ์และนวัตกรรมในการดูแลช่วยเหลือมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
HTML::image(