ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยวันนี้ (14 มีนาคม 2562) ว่า กนอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 16 ภาคีความร่วมมือหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงินภาคประชาสังคม เอกชน และสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมกันเสริมสร้างทักษะเพิ่มองค์ความรู้ให้กับชุมชนรอบ นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มวัยแรงงาน แรงงานวัยใกล้เกษียณ ผู้สูงอายุ และวิสาหกิจชุมชน ในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อบริการกับภาคอุตสาหกรรม ผ่านโครงการ"สานฝัน ปั้นอาชีพ" ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ CSR เสริมแกร่งชุมชน รอบนิคมฯ ระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) โดยในปี 2562 นี้ มีเป้าหมายจะพัฒนาชุมชนรอบนิคมฯ 10 แห่ง และพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้ จำนวน 1,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่นิคมฯทั่วประเทศ
สำหรับกรอบความร่วมมือในการดำเนินครั้งนี้ กนอ. สมาคมเพื่อนชุมชน และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จะทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และ สถาบันการศึกษา ในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพ สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน ให้กับวิสาหกิจชุมชน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนให้การรับรองมาตรฐานวิชาชีพผ่านสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน
ส่วนด้านการฝึกอบรมให้กับชุมชนรอบนิคมฯ แบ่งเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาโดยภาครัฐ ประกอบด้วย กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะจัดส่งวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาชีพต่างๆ และสถาบันการศึกษาจะร่วมกันจัดหลักสูตรการศึกษา พร้อมฝึกอบรมวิชาชีพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี โดยมีภาคเอกชน ประกอบด้วย สถาบันไทย-เยอรมัน และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนฝึกอบรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทักษะวิชาชีพ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนรอบนิคมฯ มีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องเพื่อการประกอบธุรกิจ โดยมีสถาบันการเงินเข้ามาร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
นอกจากนี้เพื่อการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้กับชุมชนและวิสาหกิจชุมชนรอบนิคมฯให้เป็นที่ยอมรับกับผู้ประกอบการ โดยจะมีหน่วยจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ออกใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อเป็นเครื่องการันตีในด้านการประกอบวิชาชีพด้านบริการ ป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มน้ำประปา กลุ่มยานยนต์ กลุ่มสุขภาพกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์/อุปกรณ์มือถือ กลุ่มช่างซ่อมเรือ กลุ่มช่างซ่อมเครื่องยนต์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย กลุ่มพนักงานขับรถ เป็นต้น
สำหรับพื้นที่นำร่อง 10 นิคมฯ ประกอบด้วย นิคมฯ บางชัน กรุงเทพฯ นิคมฯ ลาดกระบัง กรุงเทพฯ นิคมฯ บางปู จ.สมุทรปราการ นิคมฯ บางพลี จ.สมุทรปราการ นิคมฯ บ้านหว้า จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมฯ บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมฯ สหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมฯ สมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร นิคมฯสินสาคร จ.สมุทรสาคร และนิคมฯ อมตะซิตี้ (ชลบุรี)"ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนรอบนิคมฯให้มีความเข้มแข็งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนและชุมชนได้รับประโยชน์จากการสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างความสมดุลของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการอยู่ร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน" ดร.สมจิณณ์ กล่าว
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit