นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่า
การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังอนุญาตให้นายยูซุฟ บิน อลาวี บิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการต่างประเทศรัฐสุลต่าน
โอมาน เข้าพบเนื่องในโอกาสนำที่ปรึกษาการเกษตรและเจ้าหน้าที่
เทคนิคด้านเทคโนโลยีการผสมยางเยือนไทย เพื่อศึกษาดูงานเทคโนโลยีการผสมยางพาราของไทย ณ จังหวัด
ฉะเชิงเทรา ว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการต่างประเทศรัฐสุลต่านโอมาน ในฐานะเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศมีความสนใจเทคโนโลยีการผสมยางสำหรับทำถนนของไทย เนื่องจากถนนลาดยางพาราเป็นนวัตกรรม
งานวิจัยที่ประเทศไทยพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับยางพารา เพราะประเทศไทยมียางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจและผลิตมากที่สุดในโลก ถนนผสมยางพาราได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับชาติ ความโดดเด่นของการนำยางพาราผสมเพื่อทำถนนจะเป็นการเพิ่มคุณสมบัติการทนความร้อนได้มากกว่าถนนยางมะตอยปกติ และมีค่าความยืดหยุ่นและคืนตัวดีกว่า มีความแข็งแรงและอายุการใช้งานที่มากกว่า ทำให้เหมาะสมกับประเทศในเขตร้อน โดยในช่วงเช้าการยางแห่งประเทศไทยได้จัดการบรรยายรายละเอียดขั้นตอนการนำยางพารามาทำถนน 2 แบบ ประกอบด้วย 1) ถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ และ 2) ถนนแอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราคุณภาพ และในช่วงบ่ายจะมีการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดฉะเชิงเทราด้วย
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินโครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ระหว่างออกข้อบัญญัติในด้านงบประมาณ ซึ่งได้เริ่มครงการฯ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการใช้น้ำยางสดทำถนนไปแล้ว 30,000 ตัน หากดำเนินการไปจนถึงกันยายนนี้คาดว่าจะใช้ปริมาณน้ำยางสดไม่ต่ำกว่า 800,000 ตัน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนซื้อน้ำยางสดมาปรับปรุงถนนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศ อีก 40,000 ตัน ทั้งนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดส่งพารา โดยดำเนินการผ่านหน่วยธุรกิจของการยางแห่งประเทศไทย และสหกรณ์การเกษตรยางพาราอีก 32 แห่ง
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การสนับสนุนสหกรณ์ยางพาราที่มีศักยภาพในรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง นำมาแปรรูปเป็นยางก้อนส่งออกขายต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณการยางพาราภายในประเทศอีกทางหนึ่ง และมาตรการควบคุมการปลูกยางพารา 2 แนวทาง สำหรับยางพาราที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น โกโก้ กาแฟ และการสนับสนุนให้โค่นยางพาราบางส่วน แล้วปลูกพืชอื่นแซม มีเป้าหมาย 400,000 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนราคายางพาราในปัจจุบันมีเสถียรภาพมากขึ้นเป็น 50 บาท/กิโลกรัม แต่ด้วยมาตรการรัฐดังกล่าวคาดว่าจะขยับขึ้นไปถึง 60 บาท/กิโลกรัม.