สถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 4-8 มี.ค. 62 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 11-15 มี.ค. 62

11 Mar 2019
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.91เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 56.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • นักลงทุนเริ่มมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจาก Wall Street Journal รายงานว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump กับประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping มีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงทางการค้าในการประชุมสุดยอด วันที่ 27 มี.ค. 62 ขณะที่ สหรัฐฯ ได้ระงับการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10% เป็น 25% ซึ่งเดิมกำหนดไว้วันที่ 1 มี.ค. 62 อนึ่งความตึงเครียดของสงครามการค้าเริ่มผ่อนคลาย ล่าสุด Reuters รายงานจีนเริ่มนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยในวันที่ 1 มี.ค. 62 นำเข้าปริมาณ 600,000 บาร์เรล
  • Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC (14 ประเทศ) เดือน ก.พ. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 30.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 4 ปี กอปรกับ นาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซีย รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ก.พ. 62 ลดลง 97,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน ต.ค. 61 มาอยู่ที่ 11.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ รัสเซียตกลงกับกลุ่ม OPEC ในการลดปริมาณการผลิตลง 228,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน ต.ค. 61
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น มาอยู่ที่ 834 แท่น ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 6,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน พ.ค. 61
  • Bloomberg รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 5 ชนิดจากแหล่งทะเลเหนือ ได้แก่ Forties, Brent, Oseberg, Ekofisk, และ Troll (BFOE) ที่ใช้ในการประเมินราคาน้ำมันดิบ Brent เดือน เม.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 28,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 920,000 บาร์เรลต่อวัน
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 21,416 สัญญา มาอยู่ที่ 155,426 สัญญา

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • National Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลลิเบีย ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่กรุง Tripoli (รัฐบาลที่นานาประเทศรับรอง) ยกเลิกการประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (กำลังการกลั่น 340,000 บาร์เรลต่อวัน) แล้วในวันที่ 4 มี.ค. 62 และแหล่งดังกล่าวกลับมาผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 80,000 บาร์เรลต่อวัน
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 452.9 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ 6 เท่า และการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ ยังคงที่ ณ ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Ecopetrol บริษัทน้ำมันแห่งชาติของโคลัมเบีย ประกาศลงทุนสำรวจน้ำมันดิบจากแหล่ง Unconventional จำนวน 20 หลุม ในบริเวณ Magdelana Medio Region วงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 (บริษัทมีงบลงทุนรวม 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 - 2565)
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3,508 สัญญา มาอยู่ที่ 287,828 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ลดลง จากนักลงทุนผิดหวังกับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน โดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง และจีนส่งออกลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปีอย่างเหนือความคาดหมาย หลังจากประธาน ECB กล่าวก่อนหน้าว่าเศรษฐกิจยุโรปอ่อนแออย่างต่อเนื่อง นักลงทุนจึงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวตาม อีกทั้งกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ โดยสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control: OFAC) ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอลา โดยประกาศขยายกำหนดเวลาให้ชาวอเมริกัน และนิติบุคคลสหรัฐฯ ยกเลิกสัญญา หรือข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา Petroleos de Venezuela SA (PDVSA) อาทิ พันธบัตร จากเดิม 11 มี.ค. 62 เป็นวันที่ 10 พ.ค. 62 ในส่วนของอุปทานน้ำมันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih ชี้ว่ากลุ่มองค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC กับประเทศผู้ผลิตพันธมิตร นำโดยรัสเซีย (OPEC+) จะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการลดการผลิตก่อนกำหนดสิ้นเดือน มิ.ย. 62 ทั้งนี้กลุ่ม OPEC+ กำหนดการประชุมเพื่อติดตามและทบทวนผลการดำเนินการ ในวันที่ 17-18 เม.ย. 62 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และกลุ่ม OPEC จะประชุมสามัญประจำปี ในวันที่ 25-26 มิ.ย. 62 ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.5-67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 53.5-57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.0-67.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ คูเวต ศรีลังกา เนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค. 62 ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน) อาทิ บริษัท GS Caltex ในเกาหลีใต้ มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย Residue Fluidzed Catalytic Cracking (RFCC – กำลังการกลั่น 94,000 บาร์เรลต่อวัน ) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Yeosu (กำลังการกลั่น 730,000 บาร์เรลต่อวัน ) ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 62 และ โรงกลั่น Manali (กำลังการกลั่น 210,000 บาร์เรลต่อวัน ) ทางใต้ของอินเดียของ Chennai Petroleum Corp. Ltd. (CPCL) มีแผนหยุดซ่อมบำรุง CDU (60,000 บาร์เรลต่อวัน ) ในเดือน ส.ค. 62 เป็นเวลา 1 เดือน และเริ่มผลิตน้ำมันสำเร็จรูปคุณภาพ Euro 6 ในเดือน ก.ย. 62 ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 250.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.31 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.58 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 เดือน อย่างไรก็ตาม Platts รายงานการก่อสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ของบรูไน ซึ่งร่วมทุนระหว่าง Hengyi Group ของจีน และรัฐบาลบรูไน ในสัดส่วน 70% ต่อ 30% ตามลำดับ ตั้งอยู่บริเวณเกาะ Pulau Maura Besar มีแผนแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 62 โดยจะเริ่มการกลั่นน้ำมันที่ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 และจะเพิ่มเป็น 440,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2565 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.0-73.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานซาอุดิอาระเบียส่งออกน้ำมันดีเซล ในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 37% ที่ระดับ 40.78 ล้านตัน หรือประมาณ 840,000 บาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และหน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43.1% อยู่ที่ 13.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดได้แรงหนุนจากแรงซื้อของเวียดนาม ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มี.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 136 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.24 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.0-83.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล