นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การจมน้ำ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง ที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต โดยเฉพาะช่วงปิดภาคเรียนระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เป็นช่วงที่มีสถิติ เด็กจมน้ำเสียชีวิตสูง เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะ ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ ดังนี้ เฝ้าระวัง ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคย แม้เด็กจะว่ายน้ำเป็น เนื่องจากแหล่งน้ำมีความลึก ความชัน และความแรงของกระแสน้ำที่ต่างกันจึงเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิต ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเด็กต้องอยุ่ในระยะที่มองเห็นตลอดเวลา และเข้าถึงได้ทันทีในระยะไม่เกินหนึ่งช่วงแขน หากเด็กพลัดตกน้ำจะได้ช่วยเหลือทันท่วงที ไม่ประกอบกิจกรรมอื่นขณะดูแลเด็ก อาทิ คุยโทรศัพท์ พิมพ์ข้อความ เล่นเกม เพราะการละสายตาจากเด็กในช่วงเวลาสั้นๆ หากเด็กจมน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ป้องกัน สำรวจและปิดจุดเสี่ยงต่อการจมน้ำของเด็ก โดยเทน้ำทิ้งหลังใช้งาน จัดให้มีฝาครอบปิดภาชนะเก็บน้ำ ล้อมรั้วรอบบ่อน้ำและติดป้ายเตือนอันตราย พร้อมจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำบริเวณใกล้ๆ แหล่งน้ำ สอนเด็กเรียนรู้อันตรายจากการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ลงไป เก็บสิ่งของในแหล่งน้ำ ไม่ก้มตัวหรือชะโงกหน้าลงไปในภาชนะเก็บน้ำ เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิต กำหนดพื้นที่ในการเล่นของเด็ก โดยไม่ให้เด็กเล่นตามลำพังบริเวณจุดเสี่ยงต่อการจมน้ำ อาทิ ริมตลิ่ง ชายทะเล น้ำตก บ่อน้ำ อ่างน้ำ ห้องน้ำ เพราะหากพลัดตกน้ำ เด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย สอนเด็กป้องกันตนเอง ให้เด็ก ใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทุกครั้งที่โดยสารเรือหรือประกอบกิจกรรมทางน้ำ อาทิ เสื้อชูชีพ โฟม ห่วงยาง หากเกิดเหตุฉุกเฉิน อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยพยุงตัวเด็กให้ลอยตัวในน้ำ เพื่อรอการช่วยเหลือ ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการว่ายน้ำและช่วยเหลือตนเอง เมื่อพลัดตกน้ำ โดยฝึกให้เด็กลอยตัวในน้ำ ด้วยการใช้มือทั้งสองข้างสลับกันพุ้ยน้ำ หรือใช้ขาถีบน้ำในท่าปั่นจักรยาน หากพลัดตกน้ำ เด็กจะได้สามารถช่วยเหลือตนเองอย่างปลอดภัย สอนเด็กเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อมีคนพลัดตกน้ำ โดยตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยเหลือเพื่อนที่ตกน้ำ โดยอุปกรณ์ที่ลอยน้ำไก้ อาทิ ขวดพลาสติก ถังน้ำ แกลลอนพลาสติก ห่วงชูชีพ พร้อมผูกเชือกให้คนตกน้ำใช้ยึดเกาะพยุงตัวรอการช่วยเหลือหรือลอยตัวเข้าฝั่ง การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำกรณีเด็กรู้สึกตัว จัดให้เด็กนอนราบ ตะแคงหน้าและเชยคางให้ศีรษะเงยขึ้น เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก เช็ดตัวเด็กให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าและห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย พร้อมนำเด็กส่งสถานพยาบาลในทันที กรณีเด็กไม่รู้สึกตัว ช่วยให้เด็กหายใน โดยเปิดทางเดินหายใจ เป่าปาก บีบจมูก เป่าลมเข้าทางปากติดต่อกัน และกดนวดหัวใจ 100 ครั้งต่อนาที อย่างต่อเนื่อง หรือนวดหัวใจ 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก จนเด็กหายใจได้เอง พร้อมนำเด็กส่งสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด ท้ายนี้ ห้ามอุ้มเด็กพาดบ่า กดท้อง ห้อยหัว เขย่าตัวเด็ก เพื่อเอาน้ำออก เพราะจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานขึ้น ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากการอาเจียน และสำลักน้ำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit