อาการปวดท้องบ่อยๆ ท้องเสียประจำ ถ่ายมีมูก หรือถ่ายมีเลือด เกิดได้กับทุกคน แต่ถ้าอาการเหล่านี้ เกิดขึ้นเรื้อรังและติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่าชะล่าใจไปเชียว เพราะนั่นเป็นสัญญานเตือนว่า คุณอาจอยู่ ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็น "โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง"
"กลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD (Inflammatory Bowel Disease) เป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก แพร่หลายสำหรับคนไทย เนื่องจากในอดีตเป็นโรคที่มักจะเกิดเฉพาะกับคนในตะวันตกและ ตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มมากขึ้นและพบได้ ทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็ก จนถึงสูงอายุ โดยอายุที่มักเริ่มมีอาการคือ 20-40 ปีซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทย มีแนวโน้มของอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์ ประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร แห่งประเทศไทย กล่าว
ด้วยความที่โรค IBD มีอาการคล้ายคลึงกับโรคทางระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะ โรคริดสีดวงทวาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน หรือIBS (Irritable Bowel Syndrome) จึงมักทำให้ ผู้ป่วยไม่ เฉลียวใจว่าอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือด ที่เกิดขึ้นเป็นอาการของ IBD ทำให้ได้รับ การรักษาที่ไม่ตรงกับโรค ผู้ป่วยจึงเป็นหนักขึ้นและมีอาการอักเสบเรื้อรังยิ่งขึ้น
ผศ.นพ. จุลจักร ลิ่มศรีวิไล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ให้ข้อมูลว่า โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานมากผิดปรกติ และคิดว่าลำไส้ของตัวเอง เป็นสิ่งแปลกปลอมจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น คล้ายกับ "โรคพุ่มพวง" ต่างกันที่โรคพุ่มพวงทำให้เกิดการอักเสบได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจะเกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก
"โรค IBD หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ตีบตัน ลำไส้ทะลุ และมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้ ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด" นพ.จุลจักร กล่าว
"เมื่อรู้ตัวว่าป่วย ก็ปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิตทั้งหมด ควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด จากที่เคยทานแต่อาหารรสจัด ก็งดในทันที รวมถึงคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน" คุณซาน โตส กุมารี ตัวแทนผู้ป่วยกล่าว ทางด้านคุณฐิรตา กรีใจวัง อีกหนึ่งผู้ป่วยที่เคยละเลยและไม่ทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลัวผลข้างเคียงที่ได้รับจากยา "สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ถ้ามีวินัยในตัวเอง เราสามารถควบคุมมันได้"
นอกจากอาการของโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพราะมักรู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ เกิดความเครียดจากการเจ็บป่วย ทำให้นอนไม่หลับ รู้สึกขาดอิสระในการดำเนินชีวิต และตกอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าจนต้องลาออกจากงาน
"เมื่อทราบว่าตัวเองป่วย เราก็เกิดอาหารหดหู่ ส่งผลให้การดำรงชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปมาก กลายเป็นคนขี้กังวล ไม่มีสมาธิ เดิมทีเป็นคนชอบเล่นกีฬา ก็จำเป็นต้องหยุดเล่นกีฬาทุกชนิด เหมือนถูกสมองสั่งให้มองหาห้องน้ำตลอดเวลา ในตอนแรกเราไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร และไม่รู้ว่าจะผ่านมันไปได้อย่างไร แต่ตอนนี้สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ได้แล้ว เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโรคนี้ คือกำลังใจและความเข้าใจจากคนในครอบครัว" คุณบี ฮัว เมอรี่ ตัน ตัวแทนผู้ป่วยที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์กล่าว
เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้การป้องกันโรค IBD เป็นไปได้ยาก แต่สามารถควบคุมดูแล รักษาโรคให้ดีขึ้น รวมถึงสามารถลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสเกิดอาการกำเริบได้ โดยมัก ใช้ยาเป็นแนวทางการรักษาหลัก เพื่อทำให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติจนไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เพราะโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น แม้จะได้หยุดยาแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นต้องอยู่ ในการดูแลของแพทย์ และตรวจติดตามอาการเป็นระยะ เพื่อที่หากโรคเริ่มกลับเป็นซ้ำ จะได้รักษาอาการ ได้ทันท่วงที
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า แพทยสมาคม มีโครงการ "อุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคม" โดยมีจุดมุ่งหมาย ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่มีผลต่อคุณภาพการดำเนินชีวิตในระยะยาว ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรค จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมีกลุ่มของผู้ป่วยเป็นคนขับเคลื่อนกิจกรรมกลุ่ม ในลักษณะการเป็น patient support group มีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ระหว่างแพทย์ที่ปรึกษา ผู้ป่วยและ ญาติผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการ การดูแลและรักษา ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้ว 7 โครงการกับ 7 กลุ่มโรค ซึ่งกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) เป็นกลุ่มที่ 8 ภายใต้โครง"การอุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคม"
"โครงการกลุ่มผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง "IBD มีเพื่อน...Happy Life ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง" เป็นอีก หนึ่งโครงการที่ แพทยสมาคมฯ จับมือกับชมรมแพทย์ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดิน อาหาร ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่ถูกต้อง ตั้งแต่ สาเหตุของการเกิดโรค อาการของโรค กระบวนวินิจฉัยและการรักษา แนวทางดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วย และครอบครัว สามารถปรับสภาพ การดำเนินชีวิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้" ศ.นพ.รณชัย กล่าว
รศ.นพ.สถาพร กล่าวเสริมว่า "ทางกลุ่มฯ ได้จัดทำเว็ปไซต์ www.ibdthai.com ให้เป็นช่องทางในการ เข้าถึงและรู้จักกับโรคได้อย่างรวดเร็ว และเข้าใจง่าย ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ศกนี้ เป็นต้นไป โดยนอกจากผู้ป่วยและครอบครัวที่สามารถ เข้ามาค้นหาวิธีการดูแลรักษาโรคที่ถูกต้อง รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วย"
"ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ก็เข้ามาทำความรู้จักกับโรค และประเมินตัวเอง ในเบื้องต้นได้ที่เว็ปไซต์แห่งนี้ เพื่อที่หากพบความผิดปกติ ก็จะได้รีบตรวจและรักษาความผิดปกติ ได้เร็ว ก่อนที่จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือ หากเป็นแล้ว ก็ยังมีโอกาสจะกลับมาเป็นปกติได้มากขึ้นและ เร็วยิ่งขึ้น ถ้ารักษาได้ทันท่วงที" รศ.นพ.สถาพร สรุป
แน่นอนว่า! ชีวิตดีแน่ ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง แต่ถึงจะเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง คุณภาพชีวิตก็ยังกลับ มาปกติได้ ถ้ารักษาได้เร็ว ฉะนั้น เมื่อมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ถ่ายมีมูก หรือถ่ายเลือดปน ให้พึงระวัง ไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรค IBD ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ และหาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่www.ibdthai.com เว็บไซต์เพื่อให้ความรู้เรื่องโรค IBD กับประชาชนทั่วไป ผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ของผู้ป่วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit