ผลงานของทีม LawU คือการสร้างสรรค์ไอเดียพัฒนาเว็บไซต์ One-stop service ที่ช่วยสร้างความเข้าใจและ "แก้ไขปัญหาด้านกฎหมายให้ ครบ จบ ในเว็บเดียว" ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ LawU โดยมีฟังก์ชันให้เลือกดูข้อมูลกฎหมายประเภทต่างๆ ตามที่สนใจ และจำแนกสถานการณ์ต่างๆ ไว้ โดยคำนึงถึงมุมมองของผู้ต้องการทราบข้อมูลกฎหมายจริงๆ เช่นเป็นผู้ฟ้อง หรือผู้ถูกฟ้อง ด้วยความโดดเด่นที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อสังคม จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้ คว้าไป 3รางวัลได้แก่ รางวัล CP All Social Innovation Awards, รางวัล Best Imagination รวมไปถึงรางวัลใหญ่สุดของค่ายคือ รางวัล The Winner
เตย-จันสิดา มกรานนท์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 1 หนึ่งในทีมสร้างสรรค์ไอเดียเว็บไซต์LawU กล่าวว่า ทีมใช้เวลา 4 วันในค่าย ระดมความคิด แบ่งหน้าที่ และค้นคว้าข้อมูลหลายขั้นตอน พบว่าปัจจุบันยังไม่มีเว็บไซต์ใดที่ทำเรื่องกฎหมายออกมาแล้วใช้ภาษากฎหมายที่เข้าใจง่าย และสะดวกกับทุกๆ คน จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเว็บไซต์ LawUช่วยให้คนไทยเข้าใจปัญหากฎหมาย ทำให้ชีวิตดำเนินไปในทางยุติธรรม ไม่เอาเปรียบผู้อื่นและปกป้องตัวเองได้ด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นคนวัยทำงาน 25-40 ปี
หลังจากได้รับรางวัลแล้ว ทีม LawU ตั้งใจว่า จะกลับไปปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อให้สังคมสามารถใช้งานได้จริง ผ่านการใช้ภาษากฎหมายที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมมีอินโฟกราฟิกประกอบ ช่วยแก้ปัญหาให้คนไทย และหวังว่าวันหนึ่งคนไทยจะเห็นเรื่องกฎหมายเป็นไลฟ์สไตล์ เช่นเดียวกับ การกิน การท่องเที่ยว
ไม่เพียงแต่เกิดไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์เว็บไซต์เพื่อสังคม Young Webmaster Camp ครั้งที่ 16 นี้ ยังช่วยให้เยาวชนอายุ 18-24 ปี ที่มุ่งหน้าสู่วิชาชีพเว็บมาสเตอร์ทั้ง 4 สาขา ได้แก่ 1.Web Content 2.Web Design 3.Web Marketing 4.Web Programming ได้เปิดมุมมองการทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ทักษะ ที่จำเป็นอย่างรอบด้านรวมถึงได้รับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเติบโตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม สอดคล้องกับธีมการจัดค่าย "Ready to Disrupt" ในปีนี้
ขณะที่คม-คมเพชร มีทรัพย์ นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้เข้าร่วมค่ายสาขา Web Programming เล่าว่า ปัจจุบันเปิดบริษัทซอฟแวร์เฮ้าท์เล็กๆ ที่บ้านของตัวเอง โดยตั้งเป้าพัฒนาตัวเองสู่สตาร์ทอัพด้านลอจิสติกส์ แต่มองว่าตัวเองยังมีจุดอ่อนที่ต้องพัฒนา การมาค่าย Young Webmaster Camp จึงเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี
"ผมแสวงหาความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่สมัยมัธยม โดยมีเว็บเด็กดีดอทคอมเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และมหาวิทยาลัยก็มาปูพื้นฐานเรื่องโปรแกรมมิ่งและซอฟแวร์ดีไซน์ แต่การมาค่ายนี้ทำให้รู้จุดอ่อนตัวเองว่าขาดทักษะหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการนำเสนอลูกค้า การเจาะกลุ่มลูกค้า ครั้งนี้ผมได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมากมาย เป็นค่ายที่ให้ค้นพบตัวตน ถ้าใช่ก็ไปต่อวงการนี้ได้เลย" คมเพชร เล่า
ด้านนายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย เปิดเผยถึงที่มาของการสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน เป็นภารกิจหลักของการตอบแทนสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน ตามปณิธานองค์กร โดยเฉพาะกับเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ นำทักษะความรู้ไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตนเองรวมไปถึงการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไปให้วงการไอทีบ้านเราก้าวขึ้นสู่การเป็นเว็บมาสเตอร์มืออาชีพระดับโลก
และนี่คือผลลัพธ์ของโลกแห่งการเรียนรู้ด้านวิชาชีพเว็บมาสเตอร์ ที่ได้บ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่ปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพและคุณธรรมก้าวสู่โลกแห่งการทำงาน และโลกแห่งอนาคต พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทย ตามปณิธานของซีพี ออลล์ ในการ "ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน" ให้พวกเขาเหล่านี้ก้าวทันกระแส ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างแท้จริง