นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างเห็นได้ชัด และยังเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคให้เปลี่ยนไปหันมาให้ความสนใจกับตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบาย ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบรับกับความต้องการดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำตลาดแนวใหม่ หันมาใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพทางการตลาด ให้สอดคล้องและทันต่อการแข่งขันของตลาดโลกกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DIP e-learning for e-commerce) ขึ้นเพื่อเพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึง องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อเพิ่มยอดขายด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับ SMEs ด้วยการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ตรงในการดำเนินธุรกิจด้าน e-commerce โดยผ่านระบบ e-learning ที่มีระบบการเรียนรู้ที่พัฒนาแล้วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปวงกว้างมากขึ้น มุ่งเน้น SMEs ในภาคการค้า หรือภาคบริการ หรือภาคอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve)
โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีจำนวนผู้ผ่านการเรียนรู้ "ผู้จบการอบรม" ในกลุ่มเป้าหมาย จำนวนไม่น้อยกว่า 100 ราย และผู้เข้าเรียนในระบบออนไลน์ ผ่านระบบเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์และจบการอบรม สามารถผ่านการทดสอบการวัดองค์ความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยร้อยละ 10 ของผู้จบการอบรมจำนวน 100 ราย สามารถนำความรู้ที่ได้ไปช่วยในการเพิ่มยอดขายไม่น้อยกว่า 10 % และผู้เข้าร่วมเรียนรู้ผ่านระบบ e-learning ประเมินความพึงพอใจโดยรวมได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ส่วนที่ปรึกษาประมวลผลข้อมูลผู้เข้าร่วมเรียนรู้ด้วยแบบประเมิน (Self-Assessment) ที่สามารถนำผลที่ได้มาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ต่อไป
"ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดกิจกรรม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มศักยภาพทางการตลาดผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละปีสามารถฝึกอบรมให้ SMEs ไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อปี แต่ยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวน SMEs ไทย ทั้งภาคการค้า บริการและการผลิตที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคน จึงจำเป็นต้องหาเครื่องมือ ที่จะช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ในจำนวนมีมากขึ้น ซึ่งเชื่อระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มจำนวน SMEs ให้มากขึ้น ในการเข้าถึงองค์ความรู้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยให้เพิ่มศักยภาพทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้นด้วย" นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า
"ระบบ e-learning ดังกล่าวจะเป็นเสมือนศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างเป็นระบบของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงยังสามารถสร้างและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นระบบทันสมัย และมีมาตรฐานการยอมรับในระดับสากล โดยมีเนื้อหาครอบคลุมองค์ความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาด พร้อมกับพัฒนาสื่อความรู้ให้มีความทันสมัย มีเนื้อหาข้อมูลและองค์ความรู้ที่สอดคล้อง โดยอาศัยเทคโนโลยีของเว็บในการถ่ายทอดเนื้อหา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการให้บริการความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดของ SMEs ในรูปแบบการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายนั้น จะเน้นกลุ่ม SMEs ในภาคการค้า หรือภาคบริการ หรือ ภาคอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) 2.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) 4.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) และ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) ยิ่งไปกว่านั้น จะให้ความสำคัญกับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และ 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการและธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างจริงจัง รวมทั้ง สร้างโอกาสและส่งเสริมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ อันจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ DIP e-learning for e-commerce หลักสูตร e-commerce ในระบบ e-learning สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (กส.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 023678201-4 หรือคลิกไปที่เว็บไซด์ www.dip.go.th