นอกจากนี้ ให้สศร. ขยายผลโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม (4 DNA) ซึ่งโครงการนี้ได้ให้หน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนของแต่ละอำเภอในแต่ละจังหวัดร่วมกันออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นและจังหวัด อาทิ สี ตัวอักษรภาษาไทย แพ็คเกจจิ้ง ฉลากสินค้า ลายกระเบื้องปูพื้น ลายผ้า เป็นต้น ซึ่งปีงบประมาณ 2561 สศร.ดำเนินโครงการดังกล่าวใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม พิษณุโลก ระยอง และนครศรีธรรมราช จึงมอบให้ สศร.ไปคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม อาทิ ถนนในชุมชนภายในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น ลายกระเบื้องปูพื้น ป้ายชื่อชุมชน ถนนและร้านค้า การจัดทำฉลากสินค้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น หลังจากนั้นจัดทำเป็นถนนสายวัฒนธรรม ช่วยสร้างรายได้สู่ชุมชนและเป็นพื้นที่ต้นแบบในการต่อยอดโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยฯ
ส่วนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 ให้นโยบายสศร.มุ่งเน้นส่งเสริมและเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้ง 9 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์และการออกแบบ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการและจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 9 คณะ เพื่อกำกับดูแลการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแต่ละสาขา ส่วนงานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้มุ่งเน้นหัวข้อวิจัยที่สามารถนำองค์ความรู้มาใช้ในประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนและต่อยอดภารกิจด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั้ง 9 สาขา อาทิ การศึกษาความสำเร็จของประเทศต่างๆในการต่อยอดทุนวัฒนธรรมนำมาสู่การสร้างรายได้ เช่น ภาพยนตร์ สินค้าทางวัฒนธรรม เป็นต้น อีกทั้งจัดประกวด สุดยอดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยระดับชาติ 9 สาขา โดยแบ่งออกเป็นประเภทเยาวชนและมืออาชีพ และเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลและบัญชีรายชื่อหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและติดต่อประสานงานเชิญมาถ่ายทอดความรู้และร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ กำชับให้สศร.เตรียมความพร้อมจัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก (ไทยแลนด์เบียนนาเล่) ที่จ.นครราชสีมา ในปี 2563 และที่จ.เชียงรายในปี 2565 ซึ่งในส่วน จ.นครราชสีมา กำชับให้ไปสำรวจพื้นที่และบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐและเอกชน ศิลปิน หอศิลป์ สถานศึกษาและภาคประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อม อาทิ การประกวดออกแบบสัญลักษณ์และมาสคอท จัดทำถนนประติมากรรม การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงศิลปะโดยเชื่อมโยงหอศิลป์กับสถานศึกษาที่แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ ถนนสายศิลปะที่มีกิจกรรมทางศิลปะพร้อมเปิดโอกาสให้ศิลปินและนักศึกษานำผลงานศิลปะมาจำหน่าย รวมถึงขับเคลื่อนโครงการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยฯ ที่ดำเนินการปี 2562 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา เชียงราย เพชรบุรีและสมุทรสาครโดยสนับสนุนความเป็นเมืองศิลปะของนครราชสีมาและเชียงราย เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในจังหวัดด้วยศิลปะร่วมสมัยที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งให้ไปศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหอศิลป์ร่วมสมัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ รวมถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แฟชั่นและเครื่องแต่งกายผ้าไทย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย